วันนี้มีประเด็นถกเถียงกันในโซเชียลว่า 4G Advanced มี "ของปลอม" ด้วยหรือ ซึ่งน่าจะเป็นแคมเปญการตลาดของบรรดาโอเปอเรเตอร์ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด
Blognone จะไม่สนใจประเด็นเรื่องการตลาด แต่จะมองในทางเทคนิคว่าตกลงแล้ว 4G Advanced มีของปลอมหรือไม่
อย่างแรกเลย ต้องบอกก่อนว่าคำว่า "4G Advanced" นั้นไม่มีตัวตนในโลกเทคนิคนะครับ มีแต่ 4G และ LTE Advanced เท่านั้น คำว่า "4G Advanced" ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการเอาสองคำมารวมกัน จึงเป็นคำศัพท์ในเชิงการตลาดที่โอเปอเรเตอร์คิดขึ้นมาเท่านั้น
ทีนี้ถ้าเราตัดประเด็นหยุมหยิมเรื่องชื่อเรียกทิ้งไป มาดูกันที่คำว่า LTE Advanced ซึ่งเป็นสเปกทางเทคนิคกันเพียงอย่างเดียว ก็ต้องย้อนประวัติของ LTE และการออกสเปกในโลกโทรคมนาคมกันก่อนครับ
ตัวมาตรฐานเทคนิค LTE และ LTE Advanced ถูกพัฒนาขึ้นโดย 3GPP ซึ่งเป็นกลุ่มของโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก ที่ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน GSM (2G) และ UMTS (3G) มาก่อน วิธีการออกสเปกของ 3GPP จะใช้ชื่อเรียกว่า Release โดยไล่เลขไปเรื่อยๆ
เอกสาร Release ที่สำคัญมีดังนี้
กลุ่ม 3GPP ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่กำหนดสเปกของการสื่อสารในโลกโทรคมนาคม ในอดีตเรามีค่าย CDMA ที่เป็นคู่แข่งของค่าย GSM ในยุค 2G (ซึ่งถือเป็น 2G ทั้งคู่แต่คนละค่าย) และในยุคของ LTE ก็มีค่าย WiMAX ที่เป็นคู่แข่งกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดมากนัก
พอได้ข้อกำหนดเรื่องสเปกของการสื่อสารแล้ว ขั้นต่อไปคือยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของโลกหรือ ITU เพื่อขอการรับรองว่าเป็น 4G หรือไม่
ITU ในฐานะองค์กรกลางมีหน้าที่ตรวจสอบและอนุมัติสเปกของแต่ละค่าย ว่าตรงตามข้อกำหนด (requirement) ของ ITU หรือไม่ ซึ่งกรณีของยุค 4G ทาง ITU มีข้อกำหนดกลางที่ชื่อว่า IMT-Advanced (อ้างอิง)
เงื่อนไขของ IMT-Advanced มีหลายข้อ คงไม่ลงรายละเอียดในที่นี้นะครับ แต่ประเด็นสำคัญในแง่อัตราการส่งข้อมูล (data rate หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ความเร็ว") คือขั้นต่ำต้องทำได้ 1Gbps สำหรับอุปกรณ์ที่อยู่นิ่ง (fixed position) หรือ 100Mbps สำหรับอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่เร็ว (high mobility)
ปัจจุบันมีสเปกทางเทคนิคที่เข้าข่าย 4G IMT-Advanced อยู่สองตัวคือ LTE Advanced จากค่าย 3GPP และ WirelessMAN-Advanced (IEEE 802.16) จากค่าย WiMAX ดังนั้นทั้งสองตัวนี้เป็น 4G แท้ครับ
เทคโนโลยี 4G ในบ้านเราคงชัดเจนว่าไปฝั่งค่าย LTE/3GPP หัวข้อนี้ก็จะมาดูกันว่า LTE Advanced ของแท้/ปลอมเป็นอย่างไรกันบ้างนะครับ
ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า LTE Advanced แบบไหนเป็นของแท้/ปลอม คือฟีเจอร์ Carrier Aggregation นั่นเอง ฟีเจอร์การรวมความถี่คือการใช้ความถี่หลายย่าน (band) ส่งข้อมูลพร้อมกัน เพื่อขยายแบนด์วิดท์ของการส่งข้อมูลหนึ่งครั้ง
ภาพประกอบจาก Qualcomm
การรวมความถี่สามารถทำได้สูงสุด 5 ย่านพร้อมกัน มีขนาดแบนด์วิดท์สูงสุด 100MHz และสามารถแยกความกว้างของความถี่ย่อยเป็น 1.4, 3, 5, 10, 15, 20 MHz ก็ได้ ขึ้นกับความถี่ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีใช้งาน
คำถามต่อมาคือ LTE Advanced ต้องมีอัตราการส่งข้อมูลขั้นต่ำเท่าไร คำตอบคือไม่มีกำหนดไว้ครับ ตรงนี้ขึ้นกับความกว้างของเครือข่ายที่ใช้งาน
ส่วนอัตราการส่งข้อมูลขั้นสูงสุดในทางทฤษฎีมีกำหนดไว้ สามารถทำได้ที่ 3Gbps (ดาวน์โหลด) และ 1.5Gbps (อัพโหลด) อ้างอิงจากเว็บ 3GPP แต่การทำอัตราส่งข้อมูลระดับนี้ได้ จำเป็นต้องใช้ความถี่เต็มหลอด 100MHz รวมถึงเทคนิคการส่งข้อมูลชั้นสูงอีกหลายอย่าง (เช่น MIMO หรือการส่งหลายเสาพร้อมกัน) ประกอบกัน ซึ่งอาจยังไม่มีอยู่จริงในเชิงพาณิชย์
สำหรับผู้ซื้อมือถืออ่านผ่านตาคำว่า LTE Cat 4 หรือ Cat 6 กันมาบ้าง อันนี้คือมาตรฐานของ "อุปกรณ์ที่รองรับ" (user equipment) ซึ่งปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาครับ อันที่เราเจอบ่อยๆ ได้แก่
ตัวเลข Category ของอุปกรณ์เป็นคนละเรื่องกับอัตราการส่งข้อมูลของ LTE Advanced หลายคนอาจสงสัยว่าในเมื่อ LTE Advanced มาพร้อมกับ Category 6 (300Mbps) เราสามารถนำ Category ที่ต่ำกว่ามาใช้งานได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้ครับ สมัย LTE Advanced ออกใหม่ๆ ตอนปี 2013 เครือข่าย LG U+ และ KT ของเกาหลีใต้ เปิด LTE Advanced แบบ Category 4 ให้อัตราการส่งข้อมูล 150Mbps (อ้างอิง) ภายหลังเมื่ออุปกรณ์พร้อมมากขึ้นก็อัพเกรดเป็น Category 6 ได้ไม่ยาก
จากข้อมูลเท่าที่เอ่ยมา จะเห็นว่า LTE Advanced ของจริง/ปลอม เป็นเรื่องจินตภาพที่ไม่มีอยู่จริง เป็นสงครามการตลาดของโอเปอเรเตอร์เท่านั้น (อารมณ์เดียวกับสมัยก่อนช่วงชิงนิยาม 3G/4G ของแท้ของปลอม ในต่างประเทศยังมีประเด็นการเคลม HSPA+ ว่าเป็นเครือข่าย 4G ด้วยซ้ำ เป็นเรื่องธรรมดาโลก) ดังนั้นเราก็วางเฉยต่อประเด็นพวกนี้เถิดครับ LTE Advanced ก็คือ LTE Advanced
แต่เดี๋ยวก่อน สงครามนี้ยังไม่จบง่ายๆ
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว 3GPP ในฐานะผู้ออกสเปกการสื่อสาร เพิ่งพัฒนาสเปกรุ่นล่าสุด Release 13 (อ้างอิง) ที่พัฒนาขึ้นจาก Release 12 และมาพร้อมกับชื่อใหม่ LTE Advanced Pro
ตัวสเปกมีกำหนดพัฒนาจนถึงเดือนมีนาคม 2016 และเราคงคาดเดากันได้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงมีสงคราม LTE Advanced Pro ปลอม เกิดขึ้นอีกครั้งครับ