Spread บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพืชผักจากญี่ปุ่น เผยโครงการสร้างฟาร์มผักกาดแบบใช้งานหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตแทนคนแทบทั้งหมด ตั้งเป้าเริ่มใช้งานได้จริงในช่วงกลางปีหน้า
ฟาร์มผักกาดที่ว่านี้เป็นโรงเรือนขนาด 4,400 ตารางเมตร ตั้งที่เมือง Kameoka เขตจังหวัด Kyoto จะใช้หุ่นยนต์ทำงานเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การย้ายต้นอ่อน, รดน้ำบำรุง, ตัดแต่งใบ ตลอดไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว คงเหลือแต่เพียงการเพาะเมล็ดเท่านั้นที่ยังทำโดยแรงงานคน ทั้งนี้ Spread ประเมินว่าการใช้หุ่นยนต์มาทำงานนี้จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตผักกาดจาก 21,000 ต้นต่อวัน ให้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ต้นต่อวัน และตั้งเป้าว่าภายในอีก 5 ปีถัดไปจะใช้ระบบหุ่นยนต์มาขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึง 500,000 ต้นต่อวัน
โรงเรือนที่ใช้ปลูกผักกาดของ Spread จะมีชั้นคล้ายกับชั้นวางของตั้งเรียงกันหลายแถว บรรดาต้นผักกาดจะถูกเพาะเลี้ยงบำรุงในภาชนะที่จัดเรียงกันบนชั้นเหล่านั้น ตัวหุ่นยนต์ของ Spread จะมีลักษณะเป็นแขนกลติดตั้งอยู่บนสายพานสามารถวิ่งได้ตลอดแนวของชั้นเพาะผักกาดนั่นเอง ทั้งนี้นอกเหนือจากแขนกลหุ่นยนต์แล้ว Spread ยังใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมอุณหภูมิ, ความชื้น และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงเรือน รวมทั้งควบคุมการให้ปุ๋ยน้ำและปริมาณแสงที่พอเหมาะแก่ต้นผักกาดด้วย
Spread อธิบายว่าการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต แต่ยังช่วยลดต้นทุนแรงงานลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากแบบเดิมด้วย ไม่เพียงแค่นั้นฟาร์มผักกาดใหม่ของ Spread นี้ยังเลือกใช้เทคโนโลยีด้านอื่นมาช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้หลอดส่องสว่างแบบ LED ซึ่งช่วยลดค่าไฟสำหรับแสงสว่างลงเหลือแค่ 1 ใน 3 รวมทั้งการใช้น้ำซึ่งผ่านกระบวนการรีไซเคิลมากถึง 98% ของปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการทั้งหมดซึ่งช่วยลดต้นทุนเรื่องน้ำ
บริษัทอื่นในญี่ปุ่นเองก็มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาผนวกและค่อยๆ พลิกโฉมธุรกิจการเกษตรให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังเช่น Kubota ก็ได้พัฒนาชุด exoskeleton เพื่อช่วยทุ่นแรงให้แก่เกษตรกร, Shibuya Seiki ร่วมกับองค์การวิจัยอาหารและเกษตรกรรม พัฒนาระบบเก็บเกี่ยวสตรอเบอรี่ได้เร็วจนใช้เวลาเพียง 8 วินาทีต่อลูก, Panasonic เริ่มการทดสอบภาคสนามในการใช้หุ่นยนต์ติดกล้องร่วมกับระบบวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อหามะเขือเทศสุกงอมคาเถา ทำให้เก็บเกี่ยวได้อย่างระมัดระวังไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยมีอัตราการเก็บเกี่ยว 20 วินาทีต่อ 1 ผล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลเชื่อมโยงกับแนวโน้มของจำนวนเกษตรกรของญี่ปุ่นที่ลดลงเรื่อยๆ (อายุเฉลี่ยของเกษตรกรญี่ปุ่นในปี 2011 อยู่ที่ 65.9 ปี แสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวทำการเกษตรน้อยลง ส่วนตัวเลขจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศญี่ปุ่นจากการสำรวจปี 2014 อยู่ที่ 1.7 ล้านคน น้อยกว่าปี 2004 ที่เคยมีอยู่ 2.2 ล้านคน)
บ้านเราถึงแม้จะไม่ประสบปัญหาเรื่องจำนวนเกษตรกรที่ลดลง แต่ก็น่าจะเลือกเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ได้บ้าง ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาลดผลผลิตที่เสียหายระหว่างการผลิต, เก็บเกี่ยว และขนส่ง ทั้งยังสามารถเพิ่มความเร็วในการทำงานได้มาก
ที่มา - The Guardian