สัมภาษณ์ Storylog ทำเว็บเล่าเรื่องไปทำไม ในเมื่อโลกนี้ยังมีบล็อกและเฟซบุ๊ก

by mk
8 February 2016 - 08:53

คนที่ติดตามวงการสตาร์ตอัพในบ้านเรา น่าจะเคยเห็น Storylog เว็บไซต์รวมเรื่องเล่ากันมาบ้าง และเชื่อว่าน่าจะสงสัย (แบบเดียวผม) ว่าในยุคที่ใครๆ ก็เปิดบล็อกของตัวเองได้ และคนหันไปเล่าเรื่องผ่านโซเชียลกันหมด เว็บไซต์แบบนี้จะทำไปเพื่ออะไรกัน?

Storylog เป็นหนึ่งในห้าทีมที่เข้ารอบสุดท้าย dtac Accelerate ปีสอง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ผมมีโอกาสคุยกับคุณปิ๊ปโป้ เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ผู้ก่อตั้ง Storylog รวมถึงทีมงาน ซึ่งมีคำตอบว่า "ทำไปทำไม" ครับ

ที่มาที่ไปของ Storylog

คุณปิ๊ปโป้ เล่าว่าตัวเองไม่ได้มีพื้นเพมาทางไอทีเลย จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และหลงใหล "การเล่าเรื่อง" (storytelling) ทุกรูปแบบ ทั้งการเขียน การพัฒนาบทละคร-ภาพยนตร์

จากประสบการณ์การเขียนบทของตัวเอง พบว่าควรไป "เสือก" เรื่องชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนบท ที่ผ่านมาพบว่าหลายคนเล่าเรื่องตัวเองลง Facebook แล้วหายสาบสูญไปตามกาลเวลา ค้นก็ยาก เรื่องดีๆ พวกนี้น่าเสียดาย ควรมีสถานที่เก็บเรื่องพวกนี้ไว้ เลยลงมือทำเองเลย

ช่วงแรกของ Storylog เริ่มจากสมัครเข้าโครงการ dtac Accelerate ปีแรก ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มาก ถือเป็นการเริ่มต้นสู่โลกสตาร์ตอัพ แต่ก็ไม่ง่าย ชีวิตติดขัดอยู่เกือบปี ทีมงานไม่ลงตัว และตัวเองก็ยังใหม่กับวงการนี้ ไม่มีความรู้มากนัก

เวลาผ่านมาจนได้เจอทีมงานชุดปัจจุบัน มีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 5 คน หลายคนเจอกันใน co-working space (ในที่นี้คือ Hubba) ถือเป็นสตาร์ตอัพไทยไม่กี่รายที่เติบโตมาจากการอยู่ใน co-working space ตั้งแต่ต้น

คุณปิ๊ปโป้เล่าว่าการที่คนไม่รู้จักกันเลยมาเปิดบริษัทด้วยกัน ต้องคลุกคลีกันด้วยกันสักพักใหญ่ๆ ถึงจะคุ้นเคยกัน ทำงานร่วมกันได้ การมาใช้ชีวิตร่วมกันใน co-working space ถือเป็นโอกาสอันดีของการเรียนรู้เพื่อนร่วมทีม

ตกลงแล้ว Storylog คืออะไร

คำถามที่ทีมงาน Storylog เจออยู่เสมอคือ ทำไปทำไม เพราะโลกนี้มีบล็อก, Facebook, Pantip อยู่แล้ว แต่ทีมงานยืนยันว่าเห็นช่องว่างในตลาด

ถ้าให้นิยามตัวเอง Storylog บอกว่าตัวเองเป็น "social writing platform" หรือแพลตฟอร์มการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ที่แบ่งปันกันได้ เรื่องที่เล่าเน้นประสบการณ์ เน้นความคิดของคน มากกว่าการเป็นเรื่องแต่ง

ตัวแพลตฟอร์มเน้นหนักไปที่การอ่าน/เขียนเท่านั้น มีตัว editor ให้แบบจำกัดความสามารถแค่ใส่ตัวหนาหรือใส่เส้นแบ่ง แต่ไม่อนุญาตให้ใส่ลิงก์ ไม่มีการแปะวิดีโอ โฟกัสไปที่ long-form content ที่เป็นข้อความเท่านั้น

Storylog ยังบังคับให้ล็อกอินด้วย Facebook เนื่องจากต้องการความ authentic คือเป็นตัวตนจริงๆ ของผู้เขียน เปิดหน้ามาเขียนให้รู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักเขียน เป็นคนดัง เป็นบล็อกเกอร์เท่านั้น เพราะแพลตฟอร์มต้องการให้คนปกติทั่วไปที่มีเรื่องเล่ามาแชร์กัน และจากสถิติที่ผ่านมา คนทั่วไปนี่แหละที่มียอดการแชร์สูงกว่าคนดังๆ ด้วยซ้ำ

ผมถามว่า Storylog มอง Medium อย่างไร คำตอบที่ได้คือ "Medium เป็นครู" ทางทีมศึกษารูปแบบและแนวทางของ Medium อย่างละเอียด และนำมาปรับใช้กับบริบทของเมืองไทย

พัฒนาบนหลักการ Lean Startup

Storylog เดินตามแนวคิด Lean Startup ของ Eric Ries ที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์เวอร์ชันแรกให้น้อยที่สุด แต่แกนหลักครบถ้วน (minimum viable product) ดังนั้น Storylog เวอร์ชันแรกทำอะไรแทบไม่ได้เลย ตัวช่วย editor ก็ไม่มี ใส่รูปก็ไม่ได้ คอมเมนต์ก็ใช้ได้เฉพาะ Facebook Comment เท่านั้น แต่พอเปิดตัวแล้วกลับมีคนมาใช้งาน

ทางทีมงานก็สงสัยว่าทำไมถึงมาใช้งาน จึงเข้าไปคุยกับผู้ใช้ และเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เก็บข้อมูลและความคิดเห็นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แล้วมาเปิดตัวเวอร์ชันจริงในเดือนพฤศจิกายน 2014 โดยเพิ่มฟีเจอร์มาอีกเล็กน้อย เช่น ใส่รูปได้ (แต่ใส่ได้รูปเดียว) มีระบบ follow บัญชีคนอื่น มีระบบคอมเมนต์และโหวต ถือเป็น Twitter ที่เขียนได้ยาวขึ้น แต่ยังคงแนวคิดหลักเอาไว้ว่าต้องใช้ง่ายที่สุด คนที่อยากเล่าเรื่องต้องเข้ามาใช้งานได้เลย เขียนเสร็จแล้วแพร่กระจายเรื่องของตัวเองได้

ทางทีมเล่าว่าการยึดหลัก Lean Startup ต้องใช้ "ความกล้า" อย่างมากในการ "ตัดฟีเจอร์" ออกเพื่อให้มีฟีเจอร์ที่จำเป็นน้อยที่สุด แล้วค่อยๆ เติมฟีเจอร์กลับมาในภายหลังเมื่อลองใช้งานกับผู้ใช้แล้วคิดว่าเวิร์ค

สถิติการใช้งาน

Storylog เปิดตัวเวอร์ชันจริงมาได้ปีกว่า ตอนนี้มีเรื่องในระบบประมาณ 25,000 เรื่อง มีเรื่องใหม่วันละ 100 เรื่อง มีคนเขียนจริงจัง 6,000 คน และผู้ใช้งานที่เข้ามาลงทะเบียน 200,000 คน ส่วนยอดดาวน์โหลดแอพก็อยู่ที่ประมาณ 30,000 ครั้ง

ตอนนี้ Storylog เริ่มมีนักเขียนดังๆ มาจดบันทึก เขียนเรื่องเล่าในระบบบ้างแล้ว เช่น คุณโตมร ศุขปรีชา ทีมงานมี 9 คนแล้ว และจัดกิจกรรมในหมู่สมาชิกอยู่บ่อยครั้ง

โมเดลธุรกิจ

ทีม Storylog บอกว่าที่ผ่านมายังไม่ได้คิดเรื่องโมเดลธุรกิจมากนัก เน้นที่การสร้างแพลตฟอร์มและสร้างผู้ใช้ในระบบก่อน แต่ปี 2016 นี้ก็จะเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจแล้ว ซึ่งโมเดลที่เป็นไปได้ก็มีหลายทาง เช่น การรวมเล่มทำอีบุ๊ก หรือโมเดลการจ่ายเงินเพื่ออ่านเรื่อง (แต่ทีมงานยืนยันว่าจะไม่ใช้โมเดลโฆษณาแน่ๆ) ในปีนี้ขอให้จับตาดูว่า Storylog จะเริ่มเดินหน้าเพื่อสนับสนุนให้นักเขียนมีรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

ในภาพรวมแล้ว Storylog ถือเป็นสตาร์ตอัพไทยที่น่าสนใจอีกราย และแตกต่างจากสตาร์ตอัพไทยรายอื่นๆ ที่มักเน้นคอมเมิร์ซหรือการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ใช้บริการ-ผู้ให้บริการ แต่กรณีของ Storylog เป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัลล้วนๆ ที่ดูเหมือนว่าเป็นตลาดเฉพาะ (นักเขียน) แต่เอาเข้าจริง ตลาดอาจมีศักยภาพมากกว่านั้นเยอะ (ทุกคนมีเรื่องเล่า) ต้องรอดูกันต่อไปว่า Storylog จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรครับ

Blognone Jobs Premium