อีกหนึ่งความหวังของคู่รักที่มีบุตรยาก เชิญพบกับหุ่นยนต์อสุจิจากการพิมพ์ 3 มิติ

by ตะโร่งโต้ง
9 February 2016 - 10:12

ในเวลานี้ที่เทคโนโลยีงานพิมพ์ 3 มิติกำลังมาแรงสุดๆ งานค้นคว้าวิจัยใช้ประโยชน์งานพิมพ์นั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ, งานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย ทั้งการสร้างบ้าน, สร้างรถ หรือจะเพื่อการแพทย์อย่างใช้การพิมพ์ 3 มิติสร้างเนื้อเยื่อตับไว้ทดสอบยา, สร้างกระดูกเทียมก็ยังมี แน่นอนว่าสร้างหุ่นยนต์ก็ย่อมได้ แต่วันนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่ก้าวหน้ามากขึ้นจนสามารถทำชิ้นงานขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร ส่งผลให้นักวิจัยสามารถสร้างหุ่นยนต์อสุจิได้แล้ว

แม้จะถูกเรียกว่าหุ่นยนต์อสุจิ (spermbot) แต่มันก็มิใช่หุ่นยนต์ที่มีวงจรไฟฟ้าหรือการประมวลผลอย่างพวกหุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่เห็นกันทั่วไป แท้จริงแล้วมันคืออุปกรณ์ "micromotor" ซึ่งหมายถึงอนุภาคไมโครที่สามารถเคลื่อนที่ได้เองเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมจำเพาะที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ของงานพัฒนานี้ก็ด้วยหวังว่าจะใช้มันช่วยนำตัวอสุจิที่ยังแข็งแรงพอให้เคลื่อนที่ไปทำการปฏิสนธิกับไข่ได้ สิ่งที่มันทำจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคู่รักที่มีบุตรยากอันเนื่องมาจากอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของฝ่ายชายนั้นมีแนวโน้มว่าจะได้บุตรสมดังหวังมากขึ้น

หุ่นยนต์อสุจินี้เป็นผลงานการวิจัยของ Institute for Integrative Nanosciences (IIN) แห่งสถาบัน IFW Dresden ประเทศเยอรมนี รูปร่างหน้าตาของหุ่นยนต์อสุจินั้นประกอบไปด้วยวัสดุพอลิเมอร์ทรงเกลียวคล้ายสปริง มีการเคลือบทับด้วยโลหะเพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้เมื่อมีการกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็ก ในขณะทำงานจะไปสวมรัดรอบหางของอสุจิ ทำหน้าที่เสริมแรงขับเคลื่อนช่วยให้อสุจิที่เฉื่อยชาเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น

ตัวชิ้นส่วนหุ่นยนต์อสุจิถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ Photonic Professional GT ที่พัฒนาขึ้นโดย Nanoscribe ซึ่งใช้แสงเลเซอร์ในการขึ้นรูปชิ้นงานเล็กจิ๋วในระดับนาโนเมตรด้วยเทคนิค photolitography แบบไม่ใช้หน้ากากบังแสง ซึ่งทีมวิจัยก็ได้ทดลองพิมพ์ชิ้นส่วนหลากหลายรูปทรงมาเพื่อให้เข้ากับรูปร่างของตัวอสุจิจนมาลงตัวในรูปแบบเกลียวที่สามารถพันรอบหางอสุจิได้ในที่สุด

ทีมวิจัยหวังว่าจะสามารถพัฒนางานนี้ให้ไปถึงขั้นทดสอบการใช้งานกับมนุษย์ได้สำเร็จ พวกเขาเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการมีบุตรที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จดีกว่าเทคนิคแบบเดิมอย่างการผสมเทียม หรือการทำเด็กหลอดแก้วด้วยซ้ำ แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ากันมากด้วย

ที่มา - 3DPrint, ACS Publications

Blognone Jobs Premium