ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่มาแรงที่สุดในปี 2015 ที่ผ่านมาไม่ใช่ซัมซุงหรือแอปเปิล แต่เป็น Huawei ที่ขึ้นมาเป็นอันดับสามของโลก ด้วยยอดขายเกิน 100 ล้านเครื่องต่อปี, ยอดขายในจีนแซงหน้า Xiaomi, ผลประกอบการเพิ่มขึ้น 35% และยังจับมือกับกูเกิลทำ Nexus 6P เป็นครั้งแรก
หลายคนคงมีคำถามว่า Huawei มีอะไรดีถึงก้าวขึ้นมาได้ขนาดนี้? ผมจึงพยายามหาคำตอบนี้โดยขอยืม "เรือธง" รุ่นล่าสุดของบริษัท Huawei Mate 8 ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย มาลองใช้งาน
สเปกคร่าวๆ ของ Mate 8 คือซีพียู Kirin 950 รุ่นล่าสุดที่บริษัทผลิตเอง เป็นซีพียู 4+4 คอร์ พร้อม i5 co-processor ใช้กระบวนการผลิต 16 นาโนเมตรของ TSMC
Mate 8 เป็นมือถือจอใหญ่ 6" ความละเอียด 1920x1080 อัตราคอนทราสต์ 1500:1 แต่ขอบจอด้านข้างบาง (ตัวกระจกหน้าติดขอบข้างเลย แต่แผงจอจริงๆ มีขอบดำคั่นเล็กน้อย) กล้องหลัง 16MP พร้อม OIS, กล้องหน้า 8MP, แบตเตอรี่ 4000 mAh, ระบบปฏิบัติการ Android 6.0 พร้อม EMUI 4.0 (สเปกละเอียดบนเว็บ Huawei)
จุดเด่นอีกอย่างของมือถือ Huawei ช่วงหลังคือที่สแกนลายนิ้วมือด้านหลังของเครื่อง (มีตั้งแต่ Mate 7 ในปี 2014) โดยอัพเกรดเป็นเวอร์ชันล่าสุดที่บริษัทคุยว่าแม่นยำขึ้นกว่าเดิม
Huawei Mate 8 แยกเป็นสองรุ่นย่อยคือ NXT-L29 รุ่นสองซิม และ NXT-L09 รุ่นซิมเดียว ตัวที่ได้มาทดสอบเป็น NXT-L29 รุ่นแรม 4GB ความจุ 64GB สีน้ำตาล Mocha Brown ซึ่งเป็นสีพิเศษของ Huawei Mate 8 ครับ
Huawei Mate 8 ยังคงแนวทางการออกแบบของมือถือซีรีส์ Mate (ทั้ง Mate 7 และ Mate S) นั่นคือเป็นมือถือจอใหญ่แต่บาง ใช้บอดี้โลหะดูพรีเมียม
Huawei ระบุว่า Mate 8 มีความหนาเพียง 7.9 มิลลิเมตร บางลงจาก Mate 7 อีก 0.4 มิลลิเมตร ผมลองใช้งานจริงพบว่าบางแต่ยังกระชับมือ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องใหญ่พอสมควร กับวัสดุด้านหลังออกแบบมาให้สากๆ เล็กน้อย (sandblasting คือขัด/พ่นด้วยทราย) จับแล้วรู้สึกดี แถมไม่ค่อยมีรอยนิ้วมืออย่างในมือถือที่ผิวโลหะมันวาว
พื้นที่ด้านหน้าของเครื่องเกือบทั้งหมดเป็นจอภาพ (Huawei ระบุว่าพื้นที่ 85% เป็นจอ) ปุ่มกดเป็นปุ่มบนหน้าจอ มีโลโก้ Huawei ด้านล่าง ครอบด้วยกระจกจอ 2.5D ทับลงไปทั้งหมด (ด้านหน้าทั้งหมดมีกระจก 2.5D ครอบทับเต็มพื้นที่)
จากภาพจะเห็นตรงโลโก้ใส่ลูกเล่นเป็น texture นิดหน่อยให้ดูพรีเมียมขึ้นครับ
ขอบด้านล่างเป็นพอร์ต Micro USB (ไม่ใช่ USB Type C) และลำโพง ขอบด้านบนมีช่องหูฟังและไมโครโฟน ปุ่มต่างๆ อยู่ที่ขอบด้านขวาของเครื่อง
ถาดเสียบซิมอยู่ด้านซ้าย (เป็นระบบเข็มจิ้มตามสมัยนิยม) รองรับสองซิม (4G/2G) โดยซิมสำรองต้องใช้ร่วมกับ microSD แต่การทดสอบนี้ลองใช้แค่ซิมเดียวนะครับ
ขนาดของ Mate 8 จะใหญ่กว่ามือถือจอใหญ่รุ่นๆ เดียวกันอย่าง Galaxy Note 5 อยู่เล็กน้อย แต่จอภาพของ Mate 8 ใหญ่กว่านิดหน่อย (ความกว้างพอกัน แต่ความสูงเยอะกว่า)
ระบบปฏิบัติการของ Mate 8 เป็น Android 6.0 พร้อม UI ของ Huawei เองที่เรียกว่า EMUI ซึ่งตอนนี้เดินทางมาถึงเวอร์ชัน 4.0 แล้ว
อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยคือ Huawei พยายามปรับธีมของ EMUI ให้เป็นสีออกทองๆ ดูแปลกตา ตรงนี้ผมว่าถ้ามีแต่แอพของ Huawei เองก็ดูเรียบหรูดี แต่พอมีไอคอนของแอพตัวอื่นๆ แทรกมาด้วย (เช่น Chrome ที่เป็นเบราว์เซอร์หลัก) มันก็ดูหลุดธีมไปสักหน่อย
EMUI เดินตามรอยรอมจีนตัวอื่นๆ ทั้ง Xiaomi MIUI หรือ Meizu Flyme คือไม่มีหน้า app drawer แยกต่างหาก ไอคอนทุกตัวกองอยู่บนหน้าโฮมเหมือนกับ iOS (คนที่ไม่ชอบก็ต้องปรับตัวกันหน่อย)
แอพพื้นฐานที่ให้มาก็ครบถ้วนดี เช่น ไฟฉาย กระจกเงา เข็มทิศ ที่อัดเสียง ฯลฯ แอพอื่นนอกค่ายที่แถมมาด้วยมีตัวเดียวคือ WPS Office ตรงนี้ถือว่าทำได้ดี แทบไม่มี bloatware ไร้สาระติดมาเลย
รอม EMUI ปรับแต่งไปจากรอมปกติของ AOSP อยู่พอสมควร เช่น ถาดข้อความแจ้งเตือน (notification) ทำเป็น timeline แสดงลำดับเวลาที่ข้อความเตือนแจ้งมายังเราด้วย
ตัวระบบปฏิบัติการหลักเป็น Android 6.0 ตั้งแต่แรก ผมเช็คข้อมูลแพตช์ความปลอดภัย (ณ วันที่เขียนรีวิว) ยังเป็นรอบเดือนธันวาคม 2015 อยู่ นี่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 แล้วนะ!
อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจของรอม EMUI คือแจ้งเตือนแอพที่สิ้นเปลืองพลังงาน (Huawei เรียกว่า Heart Beat) บอกหน่วยการใช้พลังงานเป็น mAh อย่างละเอียด ถือว่าแปลกดีไม่เคยเจอในรอมอื่นมากนัก นอกจากนี้ EMUI ยังมีแอพชื่อ Phone Manager ช่วยเคลียร์แรม-พื้นที่เก็บข้อมูลให้อัตโนมัติด้วย (ดูเป็นฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ผลิตมือถือเกือบทุกรายในช่วงหลังๆ)
หน้า Settings ปรับแต่งได้เยอะพอสมควร ตั้งแต่การปรับอุณหภูมิหน้าจอ การปรับจำนวนปุ่มด้านล่างของจอ สามารถสลับตำแหน่ง Back/Recent Apps ได้ และสามารถเพิ่มปุ่มที่สี่คือปุ่มเปิด Notification เข้ามาได้
ผมสังเกตว่า Huawei ให้ฟีเจอร์จำพวก "อัจฉริยะ" มาค่อนข้างเยอะ ได้แก่ฟีเจอร์พวก gesture และสั่งงานด้วยเสียงหลายอย่าง อันนี้ไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะซ้ำรอยซัมซุงในช่วง Galaxy S4 ที่ให้ฟีเจอร์ไม่ค่อยได้ใช้งานมา "เยอะ" จนกลายเป็นปัญหาหรือไม่
ส่วนตัวเก็บลายนิ้วมือก็สามารถตั้งค่าจากหน้า Settings เช่นกัน วิธีการเพิ่มลายนิ้วมือคล้ายกับมือถือคู่แข่งอื่นๆ สามารถเก็บได้สูงสุด 5 ลายนิ้วมือ
ฟีเจอร์อีกอย่างที่มีในรุ่นนี้คือ Knuckle Gesture หรือการใช้ข้อนิ้ววาด gesture บนหน้าจอ (แทนการใช้ปลายนิ้ว ซึ่งหน้าจอแยกแยะความแตกต่างได้) ถือเป็นอีกฟีเจอร์แปลกๆ ที่ไม่เคยเจอที่ไหน ดูแล้วก็น่าจะมีประโยชน์ดี (สามารถอัดวิดีโอหน้าจอได้ด้วย) แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้ใช้งานมากนัก วิธีการใช้งานลองดูในวิดีโอรีวิวของ Phandroid ด้านล่างครับ
จากการลองใช้งานจริงมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต้องบอกว่า Huawei ทำตัวสแกนลายนิ้วมือได้ดีมากครับ ตำแหน่งของเซ็นเซอร์อยู่ด้านหลังพอดี เป็นตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติมากสำหรับนิ้วชี้ ตอนที่เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา
ตรงนี้ต้องอาศัยการปรับตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะคนที่คุ้นกับการสแกนนิ้วด้วยปุ่มโฮม แต่พอคุ้นเคยแล้วกระบวนการใช้มือถือจะพลิ้วมาก เพราะระหว่างที่เราหยิบมือถือขึ้นมา นิ้วแตะตัวสแกนด้านหลัง พอยกขึ้นมาในระดับสายตา หน้าจอก็ถูกปลดล็อคเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ตัวสแกนลายนิ้วมืออยู่ด้านหลัง ก็มีจุดอ่อนว่าถ้ามือถือวางอยู่บนโต๊ะ แล้วอยากใช้งานโดยไม่ต้องการหยิบเครื่องขึ้นมาถือไว้ (ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้ไม่น่าจะมีเยอะนัก) จะไม่สามารถปลดล็อคหน้าจอด้วยลายนิ้วมือได้เลย ทางแก้ปัญหาคือใช้การปลดล็อคหน้าจอแบบอื่น เช่น PIN หรือ Pattern แทน
ปัญหาอีกข้อที่พบคือ Huawei ให้เคสของ Mate 8 มาในกล่องด้วย ตัวเคสออกแบบมาอย่างดี เว้นตำแหน่งเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือให้พร้อม แต่ปัญหาคือมันเป็น Flip Case แบบมีฝาพับ ถ้าเราพับฝาไปด้านหลังเพื่อให้ถือด้วยมือเดียวได้สะดวก แล้วหน้าจอดับไป การปลดล็อคด้วยนิ้วจะไม่สะดวกขึ้นมาทันที เพราะฝาพับไปบังตัวเซ็นเซอร์อยู่
ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ในภาพรวมแล้วก็ต้องบอกอีกรอบว่ากระบวนการปลดล็อคหน้าจอด้วยเซ็นเซอร์ด้านหลังเครื่องเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากครับ (จนผมเริ่มเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าเซ็นเซอร์ที่ปุ่มโฮมแล้ว)
ปี 2015 เป็นปีที่เรือธงแทบทุกค่ายแข่งกันเรื่องกล้องอย่างดุเดือด ผลที่ตามมาคือคุณภาพของกล้องโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
กล้องของ Mate 8 ก็ถือว่าคุณภาพสูง กล้องหลังความละเอียด 16MP ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX298 มีฟีเจอร์ครบครันทั้ง OIS และแฟลชคู่ดูอัลโทน บริษัทยังบอกว่าใช้หน่วยประมวลผลภาพ Image Sensor Processor (ISP) ของตัวเองที่ให้คุณภาพของภาพดีขึ้นด้วย
แอพกล้องของ Mate 8 หน้าตาคล้ายของ iOS โดยแบ่งเป็น 5 โหมดหลักคือ Photo, Video, Time-lapse, Beauty, Light painting (โหมด Beauty สามารถใช้กับกล้องหลังได้ด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่กล้องหน้า)
ความสามารถของแอพกล้องก็มีเยอะมาก (ตัวเลือกเริ่มเยอะ) ถ่ายพานอรามาได้ มีโหมดโปร ถ่ายวิดีโอสโลว์โมชัน ใส่ลายน้ำ ฯลฯ
ผลงานที่ได้จากกล้องก็ถือว่าดีเลยครับ ผมลองถ่ายชามก๋วยเตี๋ยวในร้านข้างถนนตอนกลางคืน ที่สภาพแสงไม่ค่อยดีนัก ออกมาได้ตามภาพด้านล่าง
ถ่ายช็อตเดียวกันเทียบด้วยกล้องคอมแพค Canon G7x
ภาพตัวอย่างอื่นๆ จากกล้องของ Mate 8 (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม ทุกภาพถ่ายด้วยโหมด Auto)
จุดขายสำคัญของ Huawei Mate 8 คือหน่วยประมวลผล Kirin 950 ที่โฆษณาว่าแรงที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ ภาพรวมการใช้งานทั่วไปถือว่าประทับใจ ลื่นไหล ไม่มีอาการกระตุกให้เห็น
ผมลองรันเบนช์มาร์คด้วย Antutu ได้คะแนนออกมาที่ประมาณ 88,000-89,000 คะแนน ถือว่าดีมาก แต่ก็ยังน้อยกว่าเบนช์มาร์ค Mate 8 ในฐานข้อมูลของ Antutu เอง (ไม่แน่ใจว่าเขารันกันยังไงเหมือนกันนะครับ)
แบตเตอรี่ถือว่าอึดมาก (ผมลองไม่ติดตั้งแอพ Facebook for Android แล้วหันมาใช้แอพ Metal แทนด้วย ไม่รู้เกี่ยวหรือเปล่า) ตัวเครื่องไม่ร้อนเลย แต่ก็แทบไม่ได้ใช้งานอะไรหนักๆ มากนัก สำหรับการใช้งานปกติของผม แบตจะเหลือประมาณ 60-70% ตอนสิ้นวันครับ
สาเหตุของความอึดน่าจะมีจากหลายส่วนประกอบกัน เช่น ตัวแบตเองให้มาเยอะ 4,000 mAh, ฟีเจอร์ Doze ของ Android 6.0, Huawei มีฟีเจอร์ชื่อ Heart Beat คอยตรวจสอบการบริโภคพลังงานของแอพ, ตัวหน่วยประมวลผลร่วม i5 coprocessor ช่วยลดภาระงานบางอย่างจากซีพียู
Mate 8 มีฟีเจอร์ชาร์จเร็วด้วย (ชาร์จเต็มจาก 0% ถึง 100% ภายใน 2.5 ชั่วโมง) แต่ทาง Huawei ไม่ได้ให้อุปกรณ์มาด้วย เลยไม่ได้ทดสอบฟีเจอร์นี้
ชิปเครือข่ายของ Mate 8 รองรับ LTE Cat 6 ด้วย (อ่านในสเปกรองรับ Carrier Aggregation ด้วย) ผมลองทดสอบกับ 4G ของ AIS ด้วย Ookla ได้ผลลัพธ์ตามภาพครับ (แต่เรื่องการทดสอบเครือข่ายมีปัจจัยผันแปรเยอะ คงยึดถือจริงจังมากไม่ได้)
Huawei Mate 8 ถือเป็นมือถือเรือธงรอบปลายปี 2015/ต้นปี 2016 ที่น่าประทับใจมากตัวหนึ่ง มีความสมบูรณ์มาก หาข้อติได้ยาก
ข้อดี
ข้อเสีย
ในภาพรวมถือว่าตัวสินค้ามีความพร้อมพอสมควรแล้ว สิ่งที่เหลือคงเป็นเรื่องแบรนด์ของ Huawei ที่ต้องขยายการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังต้องขยายให้ครอบคลุมเพิ่มเติมครับ
ส่วนในตลาดโลกก็น่าจับตาว่าหลังจาก Huawei ออกผลิตภัณฑ์ระดับ Mate 8 ได้ในปี 2015 ขั้นถัดไปเราจะเห็นอะไรตามมาในปี 2016 ที่ช่วยให้บริษัทขึ้นไปเทียบชั้นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในตลาดได้