จดหมายเปิดผนึกถึงกสทช. การกำหนดวงเงินคือสิทธิของผู้บริโภคโทรคมนาคม

by lew
12 February 2016 - 09:47

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่าบริการโทรคมนาคมโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่การใช้บริการมักเป็นการโทรศัพท์หากันหรือการส่งข้อความสั้น บริการขยายตัวโดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ต, บริการเนื้อหาราคาพิเศษเช่นหมายเลขพิเศษต่างๆ, หรือบริการเสริมเช่นการซื้อแอปพลิเคชั่น

ความหลากหลายของบริการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่ามีบริการบางประเภทที่ใช้งานเพียงไม่นานก็สามารถสร้างค่าใช้จ่ายได้มหาศาล เช่น การซื้อแอปพลิเคชั่นหรือสินค้าในแอปพลิเคชั่น, การใช้บริการจากเครือข่ายต่างประเทศ (โรมมิ่ง) จนเป็นข่าวในสื่ออยู่เรื่อยๆ ประเด็นล่าสุดคือการที่กสทช. ออกมาเตือนถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยไม่มี FUP ว่าจะทำให้มีปัญหาเช่นเดิมมาอีกครั้ง

Blognone มองว่ากระบวนการแก้ปัญหาของกสทช. ที่ผ่านมาเป็นการแก้เป็นรายกรณีโดยไม่มีแนวทางการจัดการปัญหาในระยะยาว ทุกครั้งที่มีประเด็นใหม่ก็มักเป็นการจัดการจากเรื่องร้องเรียนเป็นครั้งๆ ไป

เราเคยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาค่าบริการเกินคาดหมายมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2011 เวลาผ่านไป 5 ปีข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด และเราขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นหน้าที่ของกสทช. ที่จะต้องออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต

ข้อเสนอสำคัญคือ "ผู้บริโภคมีสิทธิกำหนดวงเงินค่าบริการ เพื่อกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย" หรือ credit limit เราเรียกร้องให้กสทช. ออกกฎเกณฑ์ให้บังคับให้ผู้รับใบอนุญาตจากกสทช. ต้องทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้

  1. ผู้บริโภคต้องรับรู้วงเงินค่าบริการได้โดยง่าย ผู้ให้บริการต้องแจ้งวงเงินค่าบริการในเอกสารเก็บค่าบริการในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน มีช่องทางให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีการแจ้งเตือนเมื่อค่าบริการเริ่มเข้าใกล้วงเงิน เช่น เมื่อผู้ให้บริการอาจจะส่งข้อความเตือนเมื่อค่าบริการครบ 50%, 75%, 100% ของวงเงิน
  2. ผู้บริโภคต้องสามารถตั้งวงเงินค่าบริการได้เอง การกำหนดค่าบริการเท่าที่ผู้ใช้รับผิดชอบได้เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่อาจจะไม่ต้องการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าจะรับได้
  3. ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงวงเงินหากไม่ได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้ง การเปลี่ยนแปลงวงเงินโดยไม่ได้รับการยืนยันจากผู้ใช้โดยมีการตรวจสอบตัวตนเป็นความผิดของผู้ให้บริการ
  4. การที่ผู้ให้บริการไม่สามารถตัดบริการได้หลังวงเงินเต็ม เป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ การที่ผู้ให้บริการเปิดบริการเสริมใดๆ ขึ้นมาแต่กลับไม่สามารถหยุดให้บริการได้เมื่อมีการใช้งานเต็มวงเงินเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการเอง ผู้ใช้บริการจะต้องมีสิทธิ์ปฏิเสธค่าบริการที่เกินวงเงินเหล่านั้นทั้งสิ้น และรับผิดชอบเฉพาะค่าบริการส่วนในวงเงินเท่านั้น

ข้อเสนอนี้เพื่อให้ผู้บริการสามารถเสนอบริการในรูปแบบต่างๆ ออกไปได้ในอนาคตโดยผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเหตุการณ์ที่ค่าบริการสูงเกินรับไหวอีกในอนาคต

Blognone Jobs Premium