สัมภาษณ์คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Provision กับแนวโน้มธุรกิจสื่อยุคดิจิทัล

by mk
18 February 2016 - 15:17

สมาชิก Blognone คงคุ้นเคยกับสำนักพิมพ์โปรวิชั่น (Provision) ที่มีผลงานหนังสือ-ตำราทางด้านคอมพิวเตอร์มายาวนาน (โดยเฉพาะหนังสือ Windows XP ในตำนานเล่มนั้น)

ผมมีโอกาสฟัง คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรวิชั่น จำกัด บรรยายเรื่องอนาคตของสิ่งพิมพ์ เลยสรุปประเด็นมาฝาก ทั้งในแง่ผลงานที่ผ่านมาของโปรวิชั่น และธุรกิจสื่อในอนาคตครับ

คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัท โปรวิชั่น จำกัด

รู้จักสำนักพิมพ์โปรวิชั่น

โปรวิชั่นก่อตั้งมายาวนานมาก (ค.ศ. 1991 หรือ 25 ปีมาแล้ว) ที่มาของชื่อคือ Professional’s Vision ส่วนวิสัยทัศน์ขององค์กรมองว่าต้องสร้างเนื้อหาคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ภายหลังสำนักพิมพ์แตกลูกมาทำหนังสือด้านท่องเที่ยวชื่อ DPlus Guide ที่หลายคนอาจเคยเห็นกันตามร้านหนังสือมาบ้าง (โดยเฉพาะหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นที่ขายดีในช่วงนี้)

โปรวิชั่นยังมีธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ คือบริษัทพัฒนาแอพและดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงโปรแกรมบัญชี-สต๊อกสำหรับ SME ชื่อมิลเลนเนียม

ผลงานของโปรวิชั่นมีมากมาย (พิมพ์หนังสือทั้งหมดเกิน 10 ล้านเล่มแล้ว O-O) แต่ที่โดดเด่นเป็นตำนาน และคิดว่าหลายคนน่าจะยังจำกันได้คือ Windows XP สี่สีเล่มสีแดงๆ ที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง เนื่องจากเป็นเนื้อหาสี่สีทั้งเล่ม แถมยังมีแผ่นดีวีดีแถมมาด้วย ทั้งหมดขายในราคา 199 บาท ถูกกว่าหนังสือขาวดำด้วยซ้ำ

คุณวศินบอกว่ายอดขายของหนังสือ Windows XP เล่มนี้สูงถึง 500,000 เล่ม ผมฟังแล้วก็ตะลึงไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ครับ ก็ต้องคารวะให้โปรวิชั่นที่สามารถสร้างนวัตกรรม พิมพ์หนังสือสี่สี เนื้อหาคุณภาพ ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ และตลาดก็ตอบสนองเป็นอย่างดี

ส่วน DPlus Guide เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย แต่ที่เยอะหน่อยย่อมเป็นญี่ปุ่นที่มาแรงแซงโค้งทุกประเทศในช่วงหลัง คุณวศินเล่าว่าในยุคที่หนังสือคอมพิวเตอร์เริ่มขายได้น้อยลง ก็แบ่งมาทำหนังสือท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับความนิยมเรื่องเที่ยวเองไม่พึ่งทัวร์ ซึ่ง DPlus Guide ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี ถึงขนาดว่าช่วงหลังๆ เวลามีงานสัปดาห์หนังสือ ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่รู้จัก DPlus Guide มากกว่า Provision ซะอีก

อนาคตของธุรกิจสื่อ

คุณวศินวิเคราะห์ว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น สิ่งพิมพ์กระดาษเป็นวัตถุที่หนักเมื่อเทียบกับขนาด (ความหนาแน่นสูง) ขนส่งยาก แต่เสื่อมสภาพง่าย (น้ำ/ปลวก) และถ้าหากเนื้อหาล้าสมัยไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากลงทุนพิมพ์ใหม่

พอมาถึงยุคดิจิทัล คนมักเปรียบเทียบสื่อดิจิทัลกับสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม สื่อดิจิทัลมีข้อดีคือแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งและเก็บสต๊อก แถมยังค้นหาข้อมูลได้สะดวกกว่า แต่ข้อเสียก็คือทำสำเนาได้ง่ายกว่า และมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบ “หนังสือ” กับ “อีบุ๊ก” อาจไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้องนัก เพราะในโลกดิจิทัลเราอ่านเนื้อหาประเภทอื่นๆ มากกว่าอีบุ๊กมาก การอ่านข้อความในโซเชียลก็ถือว่าอ่านเนื้อหาเช่นกัน และเมื่อเวลาคนเรามีจำกัด ถ้าใช้เวลากับการอ่านเนื้อหาในโซเชียลเยอะ เวลาการอ่านสื่ออื่นๆ รวมถึงหนังสือย่อมลดน้อยลง

เรามักมองอีบุ๊กว่าเป็นฟอร์แมตที่จะมาแทนหนังสือแบบเดิม แต่จริงๆ แล้ว การมัดรวม (aggregate) เนื้อหาเป็น e-book, e-magazine, e-newspaper อาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องอีกแล้ว เพราะในยุคออนไลน์ เราต้องการข้อมูลข่าวสารเฉพาะเรื่องใน “ทันที” (instant knowledge) ซึ่งหาได้จากเว็บ เสิร์ช และโซเชียล ความจำเป็นของสื่อแบบมัดรวมเนื้อหาหลายๆ อย่างจึงลดลง

คุณวศินมองว่ายุคสมัยของดิจิทัลคอนเทนต์ ความสำคัญจะเปลี่ยนจากตัวคอนเทนต์เองไปสู่ “การจัดเรียงคอนเทนต์” (curation) เพื่อมานำเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมแทน เหตุเพราะดิจิทัลทำให้คอนเทนต์มีเยอะจนนับไม่ถ้วน (ซึ่งในยุคก่อนดิจิทัลไม่เคยมีภาวะนี้) การคัดเลือกแล้วนำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงใจผู้อ่านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตัวอย่างการคัดเลือกก็อย่างเช่น เสิร์ช (Google) และโซเชียล (Facebook) นั่นเอง

สำหรับผู้สนใจเรื่อง aggregation vs curation สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บล็อกของคุณวศิน “Curation” is the King ? เมื่อ content ตกกระป๋อง! และบทความของเว็บไซต์ต่างประเทศหลายแห่งที่ถกเถียงกันเรื่องนี้ เช่น Business Insider และ Mashable

ปิดท้ายด้วยสไลด์นำเสนอของคุณวศิน 2 ชุด เผื่อใครสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ

Blognone Jobs Premium