Astro Teller ประธาน X (หรือชื่อเดิม Google X) เผยกระบวนการทำงานและคัดกรองโครงการ เขาเล่าถึงวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับ "การล้มโครงการ" ถึงขั้นว่าทีมไหนตัดสินใจล้มโครงการใดๆ ทุกคนในทีมจะได้โบนัสกันถ้วนหน้า คนล้มได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป
Astro เล่าแนวคิดของ X ว่าต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ
ที่ผ่านมา X ล้มโครงการทิ้งไปหลายโครงการ แม้โครงการเหล่านั้นมีความคืบหน้าไปมาก แต่ถ้ามีเงื่อนไขไม่ครบทั้ง 3 ข้อ มันจะถูกยกเลิกทันที ตัวอย่างโครงการที่ X เลิกทำไปคือ
แปลงผักแนวตั้ง เพื่อลดพื้นที่เพาะปลูกลงได้ 100 เท่า และลดการใช้น้ำลง 10 เท่า ปัญหาเรื่องอาหารส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก วิธีการปลูกผักแนวตั้งถือเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ ทีมวิจัยถึงขั้นพัฒนาระบบเก็บผักอัตโนมัติได้แล้ว แต่กลับไม่สามารถปลูกพืชบางประเภท (เช่น ธัญพืชหรือข้าว) ด้วยแปลงผักแนวตั้งได้ โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป
ขนส่งสินค้าด้วยเรือเหาะ X พยายามแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าของประเทศที่ไม่ติดทะเล (landlock) โดยใช้ "เรือเหาะ" แทนเรือขนส่งสินค้า เพราะมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าเครื่องบินมาก มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มีความเร็วมากกว่าการใช้เรือ ทุกอย่างดูจะพร้อมเดินหน้าต่อ แต่ X คำนวณต้นทุนของการสร้างเรือเหาะต้นแบบแล้วพบว่าต้องลงทุนเบื้องต้น 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากเกินไป และไม่สามารถประเมินได้ว่าลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ (ตามแนวคิดลองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเพื่อหาจุดอ่อน) โครงการนี้เลยถูกยกเลิก
Astro ย้ำว่าการพบจุดอ่อนของโครงการไม่ได้ส่งผลให้โครงการถูกยกเลิกเสมอไป อย่างกรณีรถยนต์ไร้คนขับของกูเกิล ถ้ายังจำกันได้ แนวคิดตอนแรกของกูเกิลคือนำเอนจินขับเคลื่อนอัตโนมัติไปใส่รถยนต์ปกติ แล้วให้คนนั่งอยู่หลังพวงมาลัย เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉินจะได้ควบคุมรถแทน ปัญหาของแนวคิดนี้คือพอคนไม่ได้ควบคุมรถเอง ก็ไม่ได้มีสมาธิคอยแก้ปัญหายามฉุกเฉิน
ปัญหานี้ทำให้ทีม X ต้องกลับไปทำการบ้านใหม่หมด ผลออกมาเป็นรถยนต์ไร้คนขับรุ่นปัจจุบัน ที่คนเป็นผู้โดยสารอย่างเดียวเท่านั้น แล้วที่เหลือเป็นหน้าที่ของรถยนต์จัดการให้ทั้งหมด เอาทรัพยากรไปทุ่มให้กับการขับรถอย่างปลอดภัย และเปลี่ยนมุมมองจากตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถ กลายเป็นการปฏิวัติวงการขนส่งไปเลย
Astro บอกว่าการเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา (shifting perspective) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ X เพราะการพัฒนาเทคนิคเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่คงอยู่มานาน เขายกตัวอย่างโครงการอื่นของ X ดังนี้
ว่าวพลังลม Makani แทนที่จะสร้างกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทีม Makani ของ X เปลี่ยนไปรับพลังงานลมที่สม่ำเสมอกว่าด้วย "ว่าว" แทน โดยหาเทคนิคที่ใช้วัสดุขนาดเบาทำเป็นใบพัดของกังหัน
บอลลูน Project Loon X พยายามกระจายสัญญาณเน็ตด้วยบอลลูน (ข่าวหมวด Project Loon) แต่พบปัญหาว่าลมแรง บอลลูนถูกพัดไปจากพื้นที่ การผูกบอลลูนไว้กับพื้นดินทำได้ยากเพราะลอยอยู่ในระดับสูง
ทางแก้ปัญหาคือไหนๆ บอลลูนก็ต้องถูกพัดอยู่แล้ว ก็ปล่อยบอลลูนหลายๆ ลูกขึ้นฟ้าไปพร้อมกัน ลูกไหนถูกพัดออกจากพื้นที่ บอลลูนอีกลูกจะเข้ามารับช่วงแทน โดยบอลลูนแต่ละลูกจะมีอัลกอริทึมในการขยับตัวเองให้เข้ากับกระแสลม เพื่อย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งที่ต้องการ
ทีม Project Loon ยังทดลองบอลลูนสารพัดแบบเพื่อให้ลอยค้างฟ้าได้นาน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายถูกลงเรื่อยๆ (ลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว 187 เท่า) แนวคิดแหวกแนวอีกอย่างหนึ่งคือใช้บอลลูน 2 ชั้น ใส่ก๊าซคนละประเภทกัน (อากาศและฮีเลียม) บอลลูนสามารถเพิ่มอากาศเพื่อทำให้ตัวมันเองหนักกว่าเดิม สำหรับการลดระดับลง หรือปล่อยอากาศเพื่อลอยตัวสูงขึ้นได้
Astro สรุปปิดท้ายว่า ความสำเร็จของ X เกิดจากการกระตุ้นให้ทีมงานกล้าล้มเหลว (fail fast) เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคนมักอับอายขายหน้าคนอื่นที่ทำพลาด หรือ กลัวถูกไล่ออก
X แก้ปัญหานี้โดยกระตุ้นให้คนกล้าทดลองไอเดียใหม่ๆ โดยเริ่มจากจุดที่ยากที่สุดของปัญหานั้นๆ ก่อน เพราะจะได้รู้แต่แรกเลยว่าทำได้หรือไม่ (การลองแก้ปัญหาส่วนง่ายๆ ก่อนจะได้กำลังใจช่วงแรก แต่จะไปติดกับปัญหาส่วนที่ยากที่สุดอยู่ดี ดังนั้น X ให้ลองเผชิญหน้ากับจุดที่ท้าทายที่สุดก่อนเลย)
นอกจากนั้น X ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ "ทำพลาดแล้วไม่เป็นไร" ปีที่แล้ว X ยกเลิกโครงการไปแล้วกว่า 100 โครงการ และ Astro ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจยกเลิก แต่เป็นทีมงานของโครงการนั้นๆ เองที่ตัดสินใจยกเลิกโครงการกันเอง ด้วยเหตุผลว่าพนักงานจะได้รางวัลจากการยกเลิก ตั้งแต่การชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเข้ามากอดและแสดงความยินดีด้วย ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้โบนัส ได้ผลประโยชน์ต่างๆ จากการยกเลิกโครงการ
ที่มา - Astro Teller
หมายเหตุ 1: Astro พูดเนื้อหาเดียวกันนี้ใน TED Talk 2016 ด้วย แต่คลิปยังไม่ขึ้นเว็บครับ
หมายเหตุ 2: Astro เดิมทีชื่อว่า Eric Teller แต่เขาเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เหมาะสมกับความสนใจของตัวเอง