Facebook จดสิทธิบัตรวิธีระบุตัวตนผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ว่าคนไหนดัง, คนไหนเป็นกูรู

by ตะโร่งโต้ง
25 February 2016 - 18:25

ข่าวนี้มาช้าไปเสียหน่อย แต่ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเมื่อ Facebook ได้รับการอนุมัติสิทธิบัตรว่าด้วยเรื่องของการระบุตัวตนผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ว่ารายไหนดังคนตามเยอะ รายไหนเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อพัฒนาโครงข่ายโฆษณากับผู้ใช้กลุ่มดังกล่าว

หลักการวิเคราะห์ของ Facebook ก็คือ Facebook จะจับตามองดูว่าเนื้อหาใดที่มีอัตราการแชร์ต่อกันสูงบ้าง (ไม่ว่าจะเป็นลิงก์หรือโพสต์ข้อความหรือเนื้อหาสื่อรูปแบบอื่น) จากนั้นก็จะดูว่าในกลุ่มเนื้อหาที่กำลังเป็นกระแสกันนั้นมีโพสต์ของใครบ้าง ผู้ใช้ที่มีโพสต์เข้าข่ายเนื้อหาอันเป็นที่นิยมหลายโพสต์ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนดัง (influencer) จากนั้นก็จะพิจารณาว่าบรรดาเนื้อหาสารพัดลิงก์หรือสื่อเหล่านั้นมีต้นตอมาจากไหนกันแน่ กลุ่มผู้ใช้ต้นตอของเนื้อหาฮอตฮิตเหล่านี้ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

จากแนวคิดข้างต้น Facebook สามารถจัดกลุ่มผู้ใช้คนดัง และกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาจากแบรนด์ดังที่ต้องการไปปรากฏสู่สายตาผู้ใช้ 2 กลุ่มนี้ในอัตราพิเศษที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากโฆษณาที่เข้าถึงผู้ใช้เหล่านี้ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าถึงผู้ใช้อื่นๆ ได้มาก (เพราะถ้าพวกเขาแชร์ออกไปก็จะทำให้มีผู้คนเห็นโฆษณาได้กระจายไปไกลมากกว่าการแชร์โดยผู้ใช้ธรรมดา) ยิ่งเมื่อคิดถึงข้อที่ว่าเหล่าผู้ใช้คนดัง และผู้เชี่ยวชาญน่าจะโน้มน้าวผู้คนให้เกิดความประทับใจกับแบรนด์ได้มากกว่าการแชร์ต่อๆ กันของผู้ใช้ทั่วไป นั่นยิ่งจูงใจให้แบรนด์ยอมจ่ายแพงขึ้นได้

สิทธิบัตรฉบับนี้ของ Facebook นั้นแตกต่างจากสิทธิบัตรที่ Google, Yahoo! และ Microsoft เคยขอจดไว้ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทต่างก็มีสิทธิบัตรว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดผ่านเหล่าคนดังบนสังคมออนไลน์ ประเด็นอยู่ที่วิธีการระบุว่าใครคือคนดังที่ควรเข้าหาเพื่อทำการตลาดด้วย ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนั้นสนใจไปที่จำนวนการเชื่อมต่อของผู้ใช้กับผู้คนอื่นๆ ซึ่งบางทีก็อาจทำให้ตีความผิด เพราะคนธรรมดาที่อาจไม่ได้มีคนสนใจมากแต่ขยันสร้างความเชื่อมโยงกับชาวบ้านก็อาจกลายเป็นคนดังได้ในหลักการของ Google, Yahoo! และ Microsoft แต่ Facebook นั้นใช้การพิจารณาจากอัตราการแชร์ต่อเนื้อหาจริงๆ เนื้อหาของใครที่ถูกคนอื่นแชร์เยอะๆ อยู่บ่อยครั้ง นั่นจึงจะทำให้เข้าข่ายคนดังของ Facebook

สิทธิบัตรฉบับนี้ถูกยื่นขอจดไปตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2011 แต่เพิ่งจะได้รับการอนุมัติก็เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง ซึ่งก็ไม่แน่ว่า Facebook อาจใช้เทคนิคนี้ในการยิงโฆษณาไปให้คนดังและกูรู ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรก็เป็นได้

ที่มา - The Next Web, TechCrunch, ข้อมูลสิทธิบัตรจาก FPO

Blognone Jobs Premium