ช่วงวันสองวันนี้ ผู้ใช้ Facebook น่าจะได้ใช้งานปุ่มไลค์แบบใหม่หรือที่เรียกว่า Reactions กันบ้างแล้ว แต่หลายคนอาจสงสัยว่า "อารมณ์ความรู้สึก" ที่ Facebook มีให้เลือกทั้งหมด 6 แบบ (like, love, haha, wow, sad, angry) ถูกคัดเลือกมาอย่างไร
Wired มีบทสัมภาษณ์ Julie Zhuo หัวหน้าทีมออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นคนรับผิดชอบ Reactions เธอเล่าว่า Mark Zuckerberg เป็นคนผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เขาบอกว่าผู้ใช้อยากได้อะไรที่มากกว่าปุ่มไลค์มานานแล้ว และที่ผ่านมาผู้ใช้เลือกใช้การโพสต์สติ๊กเกอร์หรือข้อความสั้นๆ ในคอมเมนต์เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกแทน แต่ในยุคอุปกรณ์พกพา การพิมพ์ข้อความผ่านมือถือนั้นยากลำบากขึ้น Facebook จึงต้องหาทางเลือกที่ง่ายกว่านั้น ซึ่งทางออกชัดเจนว่าใช้ emoji นั่นเอง
ปัญหาขั้นถัดมาของ Facebook คือจะมี emoji ใดให้ใช้งานบ้าง โดยต้องหาสมดุลระหว่างจำนวน emoji ที่หลากหลายจนครอบคลุมความรู้สึกหลายๆ ประเภท แต่ก็ต้องไม่เยอะจนเกินไป ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าถ้าจะเอากันจริงๆ ต้องมี emoji ราว 20-25 ตัวถึงจะครอบคลุมความรู้สึกทั้งหมด แต่ทีมงานมองว่าตัวเลขนี้เยอะเกินไป
ทางออกคือหาข้อมูลทางสถิติมาสนับสนุน โดยทีมงาน Facebook วิเคราะห์หาอารมณ์ (sentiment) ที่ผู้ใช้มักโพสต์กันบ่อยๆ บน Facebook ผ่านทั้งสติ๊กเกอร์ emoji และข้อความสั้นๆ เพียงคำเดียว (ผลออกมาพบว่าสติ๊กเกอร์ยอดนิยมคือ love) จนสุดท้ายลดลงมาเหลือ 6 แบบอย่างที่เราเห็นกัน
Facebook เคยจะใส่ emoji บางตัวเข้ามาด้วย เช่น "yay" แต่พบว่ามีความทับซ้อนกับอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ (love/haha) สุดท้ายเลยตัดออกไป
เมื่อได้ emoji ทั้ง 6 แล้วก็มาถึงการออกแบบตัว emoji ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกคน ทีมงานทดสอบหลายแนวทาง เช่น แยกสีสันไม่ให้เหมือนกัน ขีดเน้นเส้นขอบให้ชัดเจน และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนดีไซน์มาเรื่อยๆ จนลงตัว นอกจากนี้ ทีมงานยังพบว่า emoji ควรจะเคลื่อนไหวตอบสนองผู้ใช้ได้ด้วย (อีกไอเดียหนึ่งคือส่งเสียงได้ แต่ได้ข้อสรุปว่ายังไม่ทำในตอนนี้)
ในแง่การวางตำแหน่ง emoji ก็เป็นเรื่องสำคัญ ตอนแรก Facebook จะวาง emoji ทั้ง 6 ตัวไว้ใต้โพสต์ พร้อมแสดงจำนวนของ emoji แต่ละตัวให้เห็นกันชัดๆ แต่ก็พบว่าดูรกเกินไป แต่การรวม emoji ทั้ง 6 ตัวไว้เป็นก้อนเดียวกัน มีตัวนับตัวเดียว ก็ส่งผลในมุมกลับคือไม่เห็นอารมณ์ความรู้สึกแยกแต่ละกลุ่มอย่างที่ตั้งใจไว้ ทางออกสุดท้ายเป็นทางสายกลาง คือแสดงเฉพาะ emoji 3 ตัวที่มีคนกดเยอะที่สุดในโพสต์นั้น เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าอารมณ์ความรู้สึกของโพสต์ดังกล่าวคืออะไรได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใครที่อยากดูรายละเอียดก็สามารถกดดูเพิ่มเติมได้
ที่มา - Wired