สัมภาษณ์คุณกำพล ลีลาภรณ์ อดีตทีมพัฒนาเกม The Sims คนไทยใน Electronic Arts

by mk
28 February 2016 - 11:48

กลับมาอีกครั้งกับบทสัมภาษณ์คนไทยที่เคยทำงานกับบริษัทไอทีชื่อดังในสหรัฐครับ รอบนี้ผมมีโอกาสรู้จักคุณท็อป กำพล ลีลาภรณ์ คนไทยที่เคยร่วมทีมพัฒนาเกม The Sims กับบริษัท Electronic Arts (EA) ที่สำนักงานใหญ่ในเมือง Redwood ที่ซานฟรานซิสโก

ปัจจุบันคุณท็อป กลับมาเปิดบริษัทของตัวเองที่เมืองไทยชื่อ Pi R Square แต่ประสบการณ์การทำงานในบริษัทเกมขนาดใหญ่ของโลก (EA ถือว่าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของอเมริกา) น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจทำงานกับวงการเกมในต่างประเทศ

ประวัติความเป็นมาคร่าวๆ

จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศึกษาต่อปริญญาโท Master of Fine Arts สาขา 3D Animation & Visual Effect ที่ Academy of Arts University San Francisco

ก่อนเปลี่ยนสายจากวิศวะมาเรียนสายอาร์ท ผมเคยทำงานที่ไทยมาก่อน 2 ปีในสายเว็บและ Flash Game ทั้งส่วนออกแบบและโปรแกรมมิ่ง นอกจากนี้ยังเคยเขียนหนังสือ Flash ActionScript กับสำนักพิมพ์ Provision มา 3 เล่มครับ

ผมอยากเป็นคนสร้างวิดีโอเกมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มเล่นคอมตั้งแต่ยุค Apple II และเริ่มหัดเขียนเกมง่ายๆ ด้วยภาษาเบสิคมาตั้งแต่ 6 ขวบ ผมหัดๆ หยุดๆ มาตลอด จนเลิกล้มความตั้งใจ จะเปลี่ยนไปเรียนสถาปัตย์แทน แต่สุดท้ายก็กลับมาเรียนวิศวะคอม พอมีโอกาสจับเกมยุค PlayStation ก็เริ่มกลับมาสนใจสายงาน 3D Game อีกครั้ง และตัดสินใจมาเรียนต่อที่อเมริกาครับ

ไปทำงานกับ EA ได้อย่างไร งานที่รับผิดชอบมีอะไรบ้าง

เริ่มจากเข้าไปฝึกงานก่อนครับ แล้วเขารับเข้าทำงานประจำ งานที่รับผิดชอบแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกทำตำแหน่ง Character Artist หลังจากนั้นเปลี่ยนมาทำตำแหน่ง Technical Artist

การได้ฝึกงาน เริ่มจากช่วงระหว่างเรียนสมัครไปฝึกงานเทอม summer ที่ EA สำนักงานใหญ่ที่ Redwood Shores ก่อน อยู่ทีมสำหรับเกมคอนโซลบน XBox 360 และ PS3 ในตอนนั้น

หลังจากฝึกงาน 3 เดือน ก็คุยกับทีมว่าสนใจอยากทำ fulltime เขาจะให้เราเข้ากระบวนการสัมภาษณ์กับ HR ซึ่งทาง Manager กับทีมก็ช่วยรับรองให้ ตอนนั้นผมยังเรียนไม่จบ เลยต้องกลับไปเรียนให้จบอีก 1 เทอม แล้วมาเริ่มงานช่วงหลังปีใหม่ 2006 พอดี

มาร่วมทีม The Sims ได้อย่างไร

ตอนฝึกงานได้ทำในตำแหน่ง Modeler ทั่วไป พอเข้ากระบวนการสัมภาษณ์ เขาให้เลือกว่าสนใจทีมไหน ก็เลือกไป 3 ที่เกมกำลังอยู่ระหว่างการผลิต หลังได้งานแล้ว เขาเลือกให้มาอยู่ที่ทีม The Sims 3 ซึ่งตอนนั้น EA เพิ่งเริ่มโครงการนี้ ยังไม่มีตัวเกมเลย

งานที่ผมทำตอนนั้นคือตำแหน่ง Character Artist รับผิดชอบในการออกแบบ 3D Character เช่น ออกแบบทรงผม การสร้างใบหน้า เสื้อผ้าตัวละคร

ในปีแรกที่ทำงาน ยังได้ทำ The Sims 2 ด้วย ช่วงนั้นบริษัทเริ่มทำ Expansion ภาคเสริม Pets พอดี ผมเป็นคนทำ "แมว" ทุกตัวของใน Expansion ภาคนั้น

ต่อมาได้ทำ The Sims 2: Seasons พอหมดโครงการ เป็นช่วงที่ Nintendo เปิดตัวเครื่อง Wii พอดี EA เลยตั้งทีมใหม่ที่ตั้งใจสร้างเกมเปิดตัวพร้อม Wii (ซึ่งคือเกม MySims) ผมเลยขอย้ายไปอยู่ทีมใหม่นี้ ยังคงทำส่วนออกแบบ Character เช่นเดิม

จาก The Sims สู่ MySims

หลังจบ MySims ภาคแรก ทาง Technical Art Director เห็นว่าผมมีพื้นเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อน เลยชวนมาทำตำแหน่ง Technical Artist แทน

ตำแหน่งนี้เป็นสาย hybrid คือทำทั้งโค้ดและกราฟิก ได้ทำงานประสานกับทุกส่วน ทั้งส่วน Game Design, Art Direction และ Programmer

มาถึงตรงนี้ความรับผิดชอบจะเพิ่มขึ้นมาก แต่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการได้เรียนรู้การทำงานของเกือบทุกส่วนของ Game Production เริ่มตั้งแต่การร่วมออกแบบเทคนิคการพัฒนาภาพของเกมจาก Game Designer และ Art Director และหาเทคนิคร่วมกับ Graphic Programmer เพื่อปรับค่าให้ออกมาได้ดีขึ้นทั้งส่วน lighting, effect และพื้นผิว 3D ในเกม เพื่อให้อยู่ในข้อจำกัดของเครื่อง Wii ทั้งส่วน memory และ GPU

นอกเหนือจากงานแนว R&D ก็ทำพวก rigging และเขียนโค้ดใน Maya และ C# เพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับ artist ให้ทำงานได้ง่ายและเร็วขึ้น

หลังจากจบ MySims ผมได้รับผิดชอบงานส่วน Technical Art ต่อในเกม MySims Kingdom และ MySims Agents และช่วงก่อนตัดสินใจลาออกก็เคยช่วยทีมคุมงานเอาต์ซอร์สด้วย

ภาพรวมของวงการเกมสหรัฐ มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

ตลาดเกมในสหรัฐเป็นตลาดใหญ่มาก แถมผู้บริโภคมีกำลังจ่าย เงินลงทุนทั้งการพัฒนาและทำการตลาดเกมจึงสูงตามไปด้วย แต่รายได้ที่ได้รับกลับมาก็สูงเช่นกัน โอกาสด้านการงานของนักพัฒนาเกมจึงสูงตามไปด้วย

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าวงการเกมมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมีผลกระทบเยอะมาก ตั้งแต่ยุคเกมบน Facebook และมายุค Mobile ส่งผลให้เกิดค่ายเกมหน้าใหม่ที่ใหญ่ขึ้นภายในไม่กี่ปี อย่างเช่น Zynga หรือ Playfish ที่ EA ซื้อไป

แต่ภายในไม่กี่ปี เราก็เริ่มลืมชื่อค่ายเกมบน Facebook กันไปแล้ว ตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นยุคทองของเกมบน Mobile ซึ่งบรรดาเพื่อนๆ ที่เคยทำงานที่นั่น ส่วนใหญ่ก็ย้ายไปทำงานกับค่ายเกม Mobile กันเยอะครับ

ผมว่าช่วง 2-3 ปีนี้ ตลาดเกมยังปรับเปลี่ยนตัวเองจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้เล่นและตัวธุรกิจเกมเอง การเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วและเยอะ

มองว่าประเทศไทยยังขาดอะไร สำหรับการพัฒนาเกมให้ประสบความสำเร็จ

เป็นคำถามที่ยากครับ จริงๆ คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แม้แต่ที่ EA เอง ผมผ่านวัฏจักรของเกมมาหลายแบบ ทั้งเกมที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เกมที่ทำๆ ไปแล้วทีมถูกยุบเพราะคิดว่าทำตลาดไม่ได้ เกมที่ออกแบบแล้วแป๊ก จะเห็นว่าแม้แต่ EA ซึ่งมีความพร้อมในทุกด้าน ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทุกเกม หรือแม้แต่เกมญี่ปุ่นเองหลายเกม ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในตลาดโลกเช่นกัน

ผมมองว่าการตลาดเป็นจุดที่สำคัญ และคิดว่าทีมงานไทยไม่ถนัดในส่วนนี้เท่ากับวงการเกมอเมริกา แต่ต้องยอมรับว่าทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น มีตลาดในประเทศที่ใหญ่มากพอ จนทำให้การลงทุนพัฒนาเกมและผลลัพธ์ทางธุรกิจสามารถเกิดได้ดี ซึ่งสามารถต่อยอดไปในตลาดโลกได้ง่ายขึ้นมาก

ตลาดผู้บริโภคเกมในไทยไม่เล็กเลยนะ เพราะเกมที่อิมพอร์ตเข้ามามาทำ localize หลายเกม ก็ทำรายได้ในระดับดีถึงดีมากเลยล่ะครับ ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคงเป็นการพัฒนาเกมที่เข้าใจตลาด การทำงานเป็นทีมที่ฝั่งพัฒนา และการตลาดทำงานร่วมกัน ต้องมีทีมออกแบบที่แข็งแรงในรูปแบบเกมนั้นๆ ที่ต้องการให้ออกมาด้วย
ผมมองว่าเกมเป็นสื่อบันเทิง ที่ขึ้นกับจังหวะ วัฒนธรรม รูปแบบคล้ายกับภาพยนตร์

สิ่งหนึ่งที่เห็นความแตกต่างกันมากระหว่างทำงานที่ไทย และที่ EA คือการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ในงานของตัวเอง แต่ไม่พลาดเรื่องการแสดงความคิดเห็น ระบบการทำงานร่วมกัน และเข้าใจกันที่ดี จนเกิดเป็นผลลัพธ์ของทีมที่ดีทั้งส่วนพัฒนา การตลาด และโมเดลธุรกิจของเกมนั้นได้อย่างลงตัว

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจงานด้านเกมในต่างประเทศ

ตอบในสายงานที่อเมริกานะครับ ถ้าสนใจทำงานบริษัทเกมที่อเมริกาก็สมัครเลยครับ

ผมเชื่อว่าคนไทยเราเก่งๆ มีเยอะครับ จะเป็นด้านศิลป์หรือสายโปรแกรมมิ่งก็สามารถทำได้ดี และเป็นที่ยอมรับในหลายบริษัทที่อเมริกาครับ

วิธีการสมัครงานสายงานนี้ ต้องอาศัย Portfolio หรือตัวอย่างงานด้วย ที่สำคัญมากคือเรื่องภาษา เพราะการทำงานที่อเมริกา ต้องใช้การสื่อสารค่อนข้างเยอะ และถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เขาให้ความสำคัญ ตอนผมสัมภาษณ์งานก็ต้องดูว่าผู้สมัครสามารถสื่อสารได้ ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ แต่ต้องคุยรู้เรื่อง สามารถเสนอความคิดเห็นได้

เรื่องการแสดงความเห็นเป็นสิ่งสำคัญของวัฒนธรรมที่นี่ เราสามารถออกความคิดเห็นได้เต็มที่ ไม่ว่าจะคุยกับใครตำแหน่งไหน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่สนุก ผมเป็นคนชอบถามอยู่แล้ว วัฒนธรรมนี้ทำให้เราได้ถามเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องกลัว (จริงๆ ผมถือว่าผมเป็นคนที่พูดน้อยแล้ว แต่ผมไม่ค่อยหยุดที่จะถาม) จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้เราและทีมทำงานด้วยกันได้ดีขึ้น

ส่วนที่หลายคนกังวลคือเรื่อง Visa จริงๆ แล้วอเมริกามี Visa พิเศษที่ให้บริษัทจ้างคนต่างชาติได้ แต่กรณีนี้จะยากกว่าการที่ไปเรียนต่อที่อเมริกาก่อน เพราะเมื่อเรียนจบจะได้สิทธิพิเศษสำหรับ Visa ประเภททำงานได้ 1 ปีอยู่แล้ว ทำให้บริษัทรับเราเข้าทำงานได้ง่ายกว่า หลังจากนั้นเขาค่อยลงทุน Visa ทำงานให้เราได้ ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่นักเรียนไทยได้รับประโยชน์จากตรงนี้ครับ

แต่ที่สำคัญที่สุดคงเป็นความมุ่งมั่น และได้ลงมือทำที่แสดงให้ทางบริษัทได้เห็นถึงผลงาน อเมริกามีนักเรียนต่างชาติมาเรียนเยอะ มีตัวเลือกเยอะ แต่ความทุ่มเทเต็ม 100% จะเป็นตัวบอก และมองออกกันตั้งแต่ตอนเรียนว่าใครน่าจะได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำงาน ผมว่ามันมีผลเยอะ ผมมองว่าเราต้องสร้างบริบทตรงนี้ออกมาให้ได้ แล้วมันจะนำเราให้เกิดการลงมือทำที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่จะส่งให้เราได้ทำงาน

งานในปัจจุบัน

หลังจากอยู่อเมริกาได้ 7 ปี ผมก็ตัดสินใจกลับไทยครับ ปัจจุบันเปิดบริษัท Pi R Square ที่รับพัฒนา Mobile Application และ Mobile Game มีรับงานเอาต์ซอร์สให้กับบริษัทในไทยและจากต่างประเทศ

นอกจากส่วนที่รับพัฒนาให้กับบริษัทอื่น ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมาในช่วงหลังคือ Minockio.com ซึ่งใช้เทคโนโลยี 3D Printing สร้างตัวละครของเราหรือเพื่อนผ่านทางเว็บไซต์ และสร้างเป็นตุ๊กตาจริงๆ โดยใช้ 3D Printer สำหรับตลาดของขวัญในโอกาสพิเศษครับ

ผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งเป็นระบบ CEM (Customer Experience Management) ที่เริ่มจากการจัดการคิว ผ่าน Mobile App ชื่อ QHappy ซึ่งให้บริการกับร้านอาหารหลายร้าน เพิ่มความสะดวกในการเข้าคิวที่ไม่ต้องเสียเวลารอ และเพิ่มคุณค่าในการให้บริการทั้งเรื่องโปรโมชั่น ดีลพิเศษ และการให้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลกับทางร้านเพื่อพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น รวมถึงการเพิ่มยอดขายจากจุดบอดของการบริการด้วยครับ

Blognone Jobs Premium