Bambang Brodjonegoro รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียประกาศว่าบริษัทต่างชาติที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชนในอินโดนีเซียต้องทำการเสียภาษีจากรายได้แก่รัฐ มิฉะนั้นอาจถูกบล็อคการให้บริการ หรือจำกัดแบนด์วิดท์ในประเทศ
Brodjonegoro อธิบายว่าบริษัทต่างชาติอย่าง Google, Facebook หรือ Twitter ต้องดำเนินการจัดตั้งสาขา หรือตั้งบริษัทลูกเป็นนิติบุคคล พร้อมทั้งเสียภาษีตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยเรื่องการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างชาติในอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับที่บังคับใช้กับกลุ่มบริษัทน้ำมันที่เข้าไปลงทุน
ด้าน Ismail Cawidu โฆษกกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซียได้ชี้แจงเกี่ยวกับกฎหมายนี้ว่าภาครัฐกำลังหารือรายละเอียดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยจะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมทั้งบริษัทที่ให้บริการสตรีมมิ่ง, บริการสนทนาข้อความต่างๆ รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์
ที่ผ่านมาแม้ว่า Facebook และ Twitter ก็มีการตั้งสำนักงานตัวแทนบริษัทในอินโดนีเซีย ในขณะที่ Google เองก็มีการตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย แต่บริษัทไอทีเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ เนื่องจากการทำธุรกรรมทั้งหลายนั้นตัวเงินจะถูกส่งไปยังสำนักงานนอกประเทศโดยตรง
กล่าวถึงสาเหตุของการผลักดันกฎนี้ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียสูญเสียรายได้ที่พึงได้รับจากบริษัทเหล่านี้เป็นเงินมหาศาล โดยกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซียประเมินว่าในปี 2015 มูลค่าเงินในธุรกิจโฆษณาผ่านสารพัดบริการออนไลน์นั้นสูงถึง 800 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ถูกนำมาคิดภาษีเป็นเงินเข้ารัฐเลย
ประเทศอินโดนีเซียนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจของบริษัทไอทีหลายราย แม้จะมีจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแค่ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด 260 ล้านคน (ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก) ก็ตาม กระนั้นอินโดนีเซียก็ยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งาน Facebook มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังเป็นประเทศที่ถูกมองว่าเป็น "เมืองหลวงของ Twitter" เพราะเป็นประเทศที่มีกิจกรรมบน Twitter เกิดขึ้นมากที่สุดในโลก
พร้อมกันนี้ทางการอินโดนีเซียยังคาดหวังผลประโยชน์อีกเรื่องหนึ่งจากกฎหมายใหม่ที่จะบีบเหล่าบริษัทไอทีต่างชาติให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทตัวแทนจดทะเบียนอย่างถูกต้อง นั่นก็คือเรื่องการสอดส่องดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการเหล่านี้ซึ่งน่าจะทำได้อย่างสะดวกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสื่อลามกอนาจาร และเนื้อหาที่อาจมีความเกี่ยวโยงกับเหตุก่อการร้าย