ตามความรู้เดิมที่มีอยู่คือ เชื้อ dengue virus ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกนั้นมี 4 สายพันธุ์ด้วยกัน และไข้เลือดออกนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปเป็นครั้งที่ 2 (secondary infection) ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเกิดจากการกระตุ้นสาร cytokines ที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากเกินไป
ทีมนักวิจัยจากไต้หวัน จาก National Yang-Ming University ค้นพบกลไกที่เชื่อว่ามีส่วนทำให้เชื้อ dengue virus ทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการของไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) และช็อค (dengue shock syndrome) ขึ้นผ่านทางปฏิกิริยาระหว่างตัวเชื้อไวรัสเอง กับโมเลกุลที่มีชื่อว่า CLEC5A ที่อยู่บนเซลล์เม็ดเลือดขาว
จากการทดลองให้การรักษาหนูที่ติดเชื้อ dengue virus ด้วย antibodies ที่ขัดขวางการจับกันระหว่างเชื้อ dengue virus กับ CLEC5A พบว่าสามารถลดกลไกการกระตุ้นอาการอักเสบได้ แต่ก็ยังมีการอักเสบที่เกิดจากกลไกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามปกติอยู่
แม้ว่าการค้นพบนี้จะเป็นเพียงการทดลองในสัตว์ทดลองก็ตาม แต่ก็เป็นการเปิดทางให้กับการคิดค้นวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้เลือดออกนี้ต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เสียชีวิต 24,000 คน จาก 50 ล้านคน ต่อปี
ที่มา
Physorg