ในยุคที่อะไรๆ ก็สามารถวัดได้ด้วยแอพในโทรศัพท์มือถือ การวัดความดันโลหิตด้วยแอพเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ แต่บางทีการวัดด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
นักวิจัยจาก John Hopkins ได้ทำการเปรียบเทียบแอพ Instant Blood Pressure บน iPhone กับวิธีการวัดความดันโดยใช้เครื่องมือวัดแบบปกติ แอพดังกล่าวนั้นใช้วิธีวางโทรศัพท์ลงบนหน้าอกแล้วบอกค่าความดันโลหิตออกมา (ไม่เปิดเผยอัลกอริทึม) แอพนี้เคยได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 50 ของ App Store ด้วย
ผลของงานวิจัยพบว่า ในผู้เข้าร่วมงานวิจัย 85 รายที่มีผู้เป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว 45 รายนั้น แอพดังกล่าววัดค่าความดันตัวบนได้ต่ำกว่าวิธีปกติเฉลี่ยที่ 12.4 มิลลิเมตรปรอท และตัวล่างต่ำกว่าจริง 10.1 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าค่าความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) ของแอพนี้อยู่ที่ 0.22 และ 0.92 ตามลำดับ (หมายความว่าในผู้ที่มีความดันสูง 100 รายแอพนี้จะวัดได้สูงเพียงแค่ 22 ราย และในผู้ที่มีความดันปกติ 100 รายแอพนี้จะวัดได้ปกติ 92 ราย)
ล่าสุดที่เว็บไซต์ของแอพดังกล่าวนั้น ได้ออกมาแย้งว่า แอพนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีความดันอยู่ในช่วง 102-158/65-99 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ที่มีความดันมากกว่านี้ ตัวแอพเองนั้นมีอัลกอริทึมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วยการอัพเดต นอกจากนี้แอพนี้ตั้งใจให้เป็นแค่เครื่องมือเล่นๆ (recreation) ไม่ได้ตั้งใจจะให้มาวัดจริงจัง
ทีมนักวิจัยเป็นห่วงในการเอาแอพที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนไปใช้งานจริง อย่างไรก็ดี แอพดังกล่าวได้ถูกถอดไปจาก App Store ตั้งแต่เดือนก.ค. ปีที่แล้ว ผู้ที่จะใช้ได้ก็คือผู้ที่ดาวน์โหลดไว้แต่ยังไม่ลบ
ที่มา: JAMA Internal Medicine, CBS News, Instant Blood Pressure