Bitdefender เป็นซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสชื่อดังที่โดดเด่นด้านคะแนนการตรวจจับไวรัสมาโดยตลอด ถ้าใครติดตามเรื่องผลการทดสอบแอนตี้ไวรัสจากเว็บไซต์ AV-Test มาบ้าง ก็คงพอทราบว่า Bitdefender ได้คะแนนอันดับต้นๆ (ผลัดกันแพ้ชนะกับ Kaspersky อยู่เรื่อยๆ)
แต่นอกจากคะแนนแอนตี้ไวรัสแล้ว Bitdefender ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง (เช่น ต้นกำเนิดของบริษัทที่มาจากประเทศโรมาเนีย) ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณ Michal Dominik ผู้จัดการ Bitdefender ประจำประเทศไทย มีประเด็นมาเล่าดังนี้ครับ
คุณ Michal Dominik ผู้จัดการ Bitdefender Thailand
Bitdefender เป็นบริษัทจากประเทศโรมาเนีย ต้นกำเนิดของบริษัทมาจากผู้ก่อตั้ง Florin Talpeș ทำธุรกิจออกแบบระบบคอมพิวเตอร์มาก่อนในยุค 1990s แต่ก็เจอปัญหาคู่แข่งเขียนไวรัสมากลั่นแกล้ง ดังนั้นเขาจึงพัฒนาระบบความปลอดภัยขึ้นมาใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ของตัวเอง จนพัฒนากลายมาเป็นธุรกิจ Bitdefender ในภายหลัง
ตัวซอฟต์แวร์ Bitdefender เริ่มออกสู่ตลาดโลกในปี 2001 และสร้างนวัตกรรมหลายอย่างในวงการแอนตี้ไวรัส เช่น มีระบบ intelligence update เป็นรายแรก ซึ่งภายหลังคู่แข่งก็ทำตามกันหมด
วิดีโอแนะนำ Bitdefender โดย Florin Talpeș ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท
คุณ Michal แยกธุรกิจของ Bitdefender ออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน
ซอฟต์แวร์ความปลอดภัยของ Bitdefender ยังเน้นไปที่การคุ้มครองตัวเครื่องปลายทาง (endpoint) ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเชี่ยวชาญ ต่างจากคู่แข่งหลายๆ รายที่ขยายไปทำเรื่องความปลอดภัยของระบบเครือข่าย (network security) ผ่านการซื้อกิจการ
Bitdefender มีซอฟต์แวร์ครอบคลุมหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Windows, Mac และ Android ธุรกิจส่วนนี้ยังสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุด ตัวซอฟต์แวร์แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ Antivirus Plus (แอนตี้ไวรัสพื้นฐาน), Internet Security (เพิ่มไฟร์วอลล์) และ Total Security (เพิ่มระบบแบ็คอัพและการเข้ารหัส)
คุณ Mikhal บอกว่าถึงแม้โลกเราจะมีแอนตี้ไวรัสฟรีมากมาย แต่แอนตี้ไวรัสแบบเสียเงินก็ยังมีความจำเป็น (และขายได้) เพราะความซับซ้อนของการโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ทาง Bitdefender เองก็คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดซอฟต์แวร์ความปลอดภัยจะเติบโตขึ้นอีกมาก
Bitdefender ทำตลาดเมืองไทย โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์ค้าปลีกหลายราย ช่วยจัดจำหน่ายตัวซอฟต์แวร์แบบกล่องให้ซื้อง่าย ใช้สะดวก แถม Bitdefender ยังทำราคาขายในประเทศไทยให้ถูกกว่าในตลาดโลก (ตัวล่างสุดราคา 599 บาทต่อปี ราคาเมืองนอกเริ่มที่ 39.95 ดอลลาร์) และมีบริการซัพพอร์ตหลังขายทางโทรศัพท์ ที่เปิดบริการ 7 วันต่อสัปดาห์อีกด้วย
ผมถามว่าในปัจจุบัน เราย้ายไปซื้อซอฟต์แวร์ออนไลน์กันเยอะแล้ว ซอฟต์แวร์แบบกล่องยังขายได้อยู่ไหม คำตอบคือในบางประเทศ Bitdefender เลิกขายซอฟต์แวร์กล่องแล้ว แต่ในประเทศไทยก็คิดว่ายังจำเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ในรอบ 1-2 ปีมานี้ ก็พบว่าลูกค้าในไทยหันมาซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น มียอดขายผ่านออนไลน์ประมาณ 100 ไลเซนส์ต่อเดือนแล้ว จากเดิมที่มีเพียงไม่กี่ไลเซนส์เท่านั้น
สำหรับซอฟต์แวร์ฝั่งองค์กรของ Bitdefender ใช้แบรนด์ GravityZone ทำตลาด โดยมีหลายรุ่นย่อยคือ Business (องค์กรขนาดเล็ก), Advanced Business (องค์กรขนาดกลาง) และ Enterprise (องค์กรขนาดใหญ่)
จุดเด่นของ Bitdefender ฝั่งองค์กรคือมีทั้งซอฟต์แวร์แบบติดตั้งในเครื่อง (on premise) และใช้งานผ่านคลาวด์ (cloud) ให้เลือก ทั้งสองเวอร์ชันเหมือนกันทุกประการ (เวอร์ชันคลาวด์รันบน AWS) ในมุมมองของ Bitdefender มองว่าซอฟต์แวร์ความปลอดภัยในอนาคตจะเป็นคลาวด์ทั้งหมด จึงมุ่งไปที่คลาวด์เป็นหลัก แต่ก็ยังมีแบบ on premise ให้ถ้าลูกค้าต้องการ
ปัจจุบัน Bitdefender บอกว่าตัวเองเป็นระบบความปลอดภัยผ่านคลาวด์ (cloud security) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีลูกค้ากว่า 500 ล้านราย ตลาดนี้คู่แข่งสำคัญคือ Kaspersky ซึ่งในแง่ฟีเจอร์คงไม่ต่างกันนัก แต่ Bitdefender เหนือกว่าด้านคลาวด์
ส่วนซอฟต์แวร์ระดับ Enterprise ก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งด้านการคุ้มครอง Endpoint (พีซี/เซิร์ฟเวอร์) และอุปกรณ์พกพา, การคุ้มครอง VM โดยมีพาร์ทเนอร์ทั้ง VMware, Microsoft, Citrix คู่แข่งสำคัญคือ Trend Micro แต่ Bitdefender มั่นใจว่าราคาถูกกว่า ใช้ทรัพยากรเครื่องน้อยกว่า คอนฟิกง่ายกว่า และมีระบบไลเซนส์ที่เรียบง่ายกว่า ลูกค้าในไทยก็มีหลายรายทั้งภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โทรคมนาคม เป็นต้น
คุณ Mikhal บอกว่าเหตุผลที่ภัยคุกคามออนไลน์ขยายตัวเร็วมาก เป็นเพราะในอดีต คนเขียนไวรัสหรือมัลแวร์เอาสนุก แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้มาก โดยเฉพาะเรื่องการขโมยข้อมูลสำคัญขององค์กร อย่างปัญหา ransomware ก็เป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น ความยากของการจัดการ ransomware คือเปลี่ยนตัว signature ตลอดเวลา การตรวจจับทำได้ยากมาก
Bitdefender พยากรณ์ว่าในอนาคต เราจะเห็น ransomware พัฒนาไปอีกขั้น ตอนนี้คือขู่จะลบข้อมูลถ้าหากเราไม่จ่าย แต่ต่อจากนี้ไป เราจะเริ่มเห็น ransomware ที่ขู่จะเปิดเผยข้อมูลของเราถ้าไม่ยอมจ่ายด้วย นอกจากนี้บริษัทยังมองว่าเดี๋ยวเราจะเห็น ransomware แพร่ระบาดไปบนแมค ลินุกซ์ และมือถือตามมา (บทความพยากรณ์ปี 2016 โดยผู้บริหารของ Bitdefender)
คุณ Mikhal แนะนำเทคนิคเบื้องต้น 3 ข้อที่ช่วยจำกัดความเสียหายของ Ransomware ได้
Bitdefender รุ่นปี 2016 ก็มีฟีเจอร์ช่วยป้องกัน ransomware เช่นกัน ถึงแม้จะตรวจจับได้ไม่หมด แต่ผู้ใช้สามารถระบุ "โฟลเดอร์ข้อมูลสำคัญ" แล้ว Bitdefender จะนำระบบความปลอดภัยมาครอบโฟลเดอร์นั้นๆ ไม่ให้เขียนไฟล์อื่นเพิ่มเติมในโฟลเดอร์นั้นได้