ในการประชุม European Geosciences Union (EGU) ที่จัดขึ้นในกรุงเวียนนา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการเสนอผลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีต่อภาวะความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำทะเล
กลุ่มนักวิจัยภายใต้โครงการ European Collaborative Research (EUROCORE) ได้เสนอข้อมูลความเป็นกรดของทะเลที่เพิ่มมากขึ้น 30% นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา จาก pH 8.2 เป็น 8.1 (เป็นกรดมากขึ้น) ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งความเป็นกรดระดับนี้ ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 35 ล้านปีที่ผ่านมา
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานความเสียหายที่เกิดจากระดับความเป็นกรดของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ตาม แต่ก็มีความกังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสาหร่ายทะเล และแพลงก์ตอนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล และความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นนี้จะชลอการแข็งตัวของเปลือกของสัตว์ทะเล และปะการังต่าง ๆ ที่อยู่ตามชายฝั่งซึ่งที่สุดแล้ว ก็จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ทั้งในด้านแหล่งอาหาร และภัยธรรมชาติ
มีการคาดการณ์ว่า pH ของน้ำทะเลจะลดลงอีก 0.4 ภายในสิ้นศตวรรษนี้
คณะผู้วิจัยกล่าวว่าหนทางแก้ไขปัญหานี้ สามารถทำได้โดยลดปริมาณ CO2 ที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ
ที่มา Physorg