รีวิว JaguarBoard ปะทะ Raspberry Pi 3, Pi 2

by สมันน้อย
18 March 2016 - 10:14

ในยุค loT (internet of thing) ราคาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีราคาถูกน่าใจหาย ทำให้เกิดบอร์ดต้นแบบสำหรับนักพัฒนาออกสู่ตลาดจำนวนมาก บอร์ดที่จุดประกายแรกคือ Raspberry Pi ในราคาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ

ค่าย Jaguar Electronic สร้างบอร์ด JaguardBoard ที่ใช้ซีพียูอินเทล ราคาไม่แพง และประสิทธิภาพสูงพอที่จะรันระบบปฏิบัติการได้หลากหลาย เช่น Android, Windows, Linux และเมื่อปลายปี 2558 ทางค่ายเปิดตัวบอร์ดใน Kickstarter และประสบความสำเร็จในการระดมทุนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์

ผู้เขียนรีวิวคุณสมบัติหลักๆ ของบอร์ด JaguarBoard เปรียบเทียบกับ Raspberry Pi 2, Pi 3 และ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางรุ่นเพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพบอร์ดชัดเจนขึ้น

โครงสร้างบอร์ด JaguarBoard

ระบบปฏิบัติการที่รองรับ นอกจากนั้นยังรองรับ Android (Remix OS)

เปรียบเทียบคุณสมบัติของ JaguarBoard กับ Raspberry Pi

บอร์ด JaguarBoard มีจุดเด่นที่ใช้ Intel CPU ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาโปรแกรมที่ควบคุมและรองรับระบบปฏิบัติการหลักได้ดี และมี eMMC จำนวน 16 GB ทำให้สะดวกต่อการพัฒนา พร้อมทั้งมี BIOS คล้ายกับคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน

แต่มีจุดเสียคือมี GPIO น้อยมากเพียง 4 ขา (ซึ่ง 3 ขา บอร์ดต่อสวิตช์เป็นทางเลือกเพื่อความสะดวก) เมื่อมี GPIO น้อย ผู้พัฒนาบอร์ดจัดทำเอกสารทางเว็บไซต์ มีตัวอย่างการเชื่อมต่อบอร์ดกับ Arduino ผ่าน I2C ทำให้สามารถขยาย GPIO ได้

เทียบคุณสมบัติกับ Raspberry Pi

ขนาดบอร์ดเมื่อเทียบกับ Raspberry Pi

ขนาด JaguarBoard มีขนาดประมาณกระเป๋าพกผู้ชาย ซึ่งใหญ่กว่า Raspberry Pi (มีขนาดเท่ากับบัตร ATM) ประมาณด้านละ 2 ซม

ด้านบนมีฮีตซิงค์ระบายความร้อนขนาดใหญ่เมื่อซึ่งเทียบกับ Raspberry Pi ทำให้ต้องมีระยะห่างจากด้านบนพอสมควร เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท ส่วนด้านหลังบอร์ดมีพอร์ตสัญญาณเสียงและไมค์ ทำให้นูนกว่า Raspberry Pi

จากข้อจำกัดทั้งสองด้าน ทำให้กล่อง JaguarBoard ต้องมีความหนามากกว่า Raspberry Pi

ด้านหน้า JaguarBoard เทียบกับ Raspberry Pi3 และ Raspberry Pi 2

ด้านหลัง JaguarBoard เทียบกับ Raspberry Pi3 และ Raspberry Pi2

การทดสอบประสิทธิภาพของ JaguarBoard บน Linux

วัดประสิทธิภาพของ JaguarBoard บนระบบปฏิบัติการ Linux ค่าย Debian รุ่นล่าสุดของแต่ละบอร์ด ขณะทดสอบต้องรัน X Windows เพื่ออยู่ในสถานการณ์ทำงานทั่วไป (คล้ายกับการทดสอบประสิทธิภาพบนระบบปฏิบัติการ Windows) และรันโปรแกรม HardInfo ซึ่งเป็นโปรแกรมวัดประสิทธิภาพฮาร์ดแวร์บน Linux แต่พบว่าข้อจำกัดของโปรแกรม HardInfo ทำงานบนหนึ่งคอร์เท่านั้น

การทดสอบ CPU ด้วย Blowfish (ค่าวินาทีที่ทำงานเสร็จ ตัวเลขน้อยยิ่งดี)

ทดสอบประสิทธิภาพการเข้ารหัสข้อมูลแบบ Blowfish พบว่า JaguarBoard ทำงานเร็วกว่า Raspberry Pi 3 อยู่ 8 เท่า แต่ Raspberry Pi 2 และ 3 ใช้เวลาใกล้เคียงกันมากแตกต่างกันไม่ถึงหนึ่งวินาที

การทดสอบ CPU ด้วย CryptoHash (ค่า Mbit/sec ค่ามากยิ่งดี)

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้วย CryptoHash พบว่าประสิทธิภาพของ JaguarBoard มีค่ามากกว่า Raspberry Pi 3 7.6 เท่า ส่วน Raspberry Pi 3 เร็วกว่า Pi 2 16.74%

การทดสอบคำนวณ Fibonacci (ค่าวินาทีที่ทำงานเสร็จ ตัวเลขน้อยยิ่งดี)

เมื่อทดสอบการคำนวณเลข fibonacci พบว่า JaguarBoard ทำงานเร็วกว่า Raspberry Pi 3 เป็น 2.67 เท่า แต่เร็วกว่า Pi2 2.24 เท่า และพบว่า Raspberry Pi 2 ทำงานได้เร็วกว่า Raspberry Pi 3 อยู่ 19.07 %

การทดสอบ CPU (N Queen) (ค่าวินาทีที่ทำงานเสร็จ ตัวเลขน้อยยิ่งดี)

ทดสอบประสิทธิภาพด้วยการคำนวณปัญหา N Queen พบว่า JaguarBoard เร็วกว่า Raspberry Pi 3 เป็น 1.8 เท่า เร็วกว่า Pi 2 2.01 เท่า และ Raspberry Pi 3 เร็วกว่า Pi 2 10.44%

การทดสอบ FPU (FFT) (ค่าวินาทีที่ทำงานเสร็จ ตัวเลขน้อยยิ่งดี)

ทดสอบหน่วยประมวลผลเลขทศนิยม (floating point unit - FPU) พบว่า JaguarBoard มีประสิทธิภาพดีกว่า Raspberry Pi 3, Pi 2 เป็น 10.94 เท่า, 11.37 เท่า

การทดสอบ FPU (Raytracing) (ค่าวินาทีที่ทำงานเสร็จ ตัวเลขน้อยยิ่งดี)

พบว่า JaguarBoard มีประสิทธิภาพดีกว่า Raspberry Pi 3, Pi 2 เป็น 2.85 เท่า, 4 เท่า ตามลำดับ และพบว่า Pi 3 เร็วกว่า Pi 2 อย่างเห็นได้ชัดเจน

สรุปการทดสอบ CPU ส่วนแรก พบว่า JaguarBoard (Intel) สามารถทำงานคำสั่งบิตได้ดีกว่า Raspberry Pi 2, Pi 3 (ARM) เยอะมาก โดยพิจารณาจาก Blowfish และ CrytoHash เป็นการทำงานเข้ารหัสข้อมูลซึ่งต้องใช้คำสั่งประเภทบิตจำนวนมาก และ JaguarBoard ทำงานได้ดีกว่าประมาณ 1.5-2 เท่า Raspberry Pi3 (ARM) เมื่อทำงานชุดคำสั่งคณิตศาสตร์พื้นฐาน โดยพิจารณาจากการทดสอบการคำนวณเลข fibonacci และปัญหา N queen ซึ่งใช้คำสั่งคณิตศาสตร์จำนวนเต็มและคำสั่งกระโดดไปทำงานคำสั่งที่กำหนด

การทดสอบ CPU ส่วนที่สองเป็นการทดสอบการคำนวณตัวเลขทศนิยม พบว่า JaguarBoard (Intel) ยังทำได้ดีกว่าประมาณ สองเท่า และพบว่าคอร์ ARM A53 (Raspberry Pi 3) มีประสิทธิภาพสูงกว่า ARM A7 (Raspberry Pi 2) อยู่ 28.78 % ในการทดสอบ Raytracing

การทดสอบบน Windows 10

พบว่า JaguarBoard 2584 K node/sec ซึ่งผลการทดสอบดีมากกว่า โน้ตบุ๊ก Acer es14 ราคาต่ำกว่าหมื่น ( 1111 kilo nodes/sec)


จากผู้ผลิต JaguarBoard

การทดสอบการใช้งานปกติ

สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ดี พร้อมดู YouTube ที่ความละเอียด HD ได้ ด้วย JaguarBoard มีความรองรับ Windows สามารถลงเพื่อดูหนังผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือใช้แทนคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ แต่ด้วยหน่วยความจำที่มีจำนวนน้อยอาจทำงานช้ากว่าปกติ เมื่อเรียกใช้หลายโปรแกรมพร้อมกัน

สรุปข้อดี

  1. ราคาถูก (82 เหรียญ หรือประมาณ 2,900 บาท) มีประสิทธิภาพสูง เพียงพอสำหรับงานทั่วไป ที่เล่นอินเทอร์เน็ต ดู YouTube
  2. รองรับหลากหลายระบบปฏิบัติการ
  3. ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าโน้ตบุ๊ก
  4. สามารถเขียนโปรแกรมควบคุม hardware ได้ มี GPIO 12C

ข้อเสีย

  1. มีหน่วยความจำน้อยไปสำหรับงานที่เปิดหลายโปรแกรมพร้อมกัน หรือทำงานกราฟิก
  2. มี USB น้อยไปหน่อย และการแสดงผลออกได้เพียง HDMI เท่านั้น
  3. มี GPIO น้อยและไม่มี A2D (analog input)

ขอบคุณที่ช่วยเหลือ

Seksan Poltree
Comdet Phaudphut

ขอบคุณสถานที่

Khon Kaen Maker Club

Blognone Jobs Premium