เราทราบกันดีว่าตลาดฮาร์ดแวร์ทั้งพีซี และแท็บเล็ตยอดตกลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 1-2 ปีมานี้ แต่สินค้ากลุ่มที่เติบโตสวนกระแสตลาดคือ "เกมมิ่ง" ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กหลากหลายแบรนด์ออกวางขายอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดตลาดเกมมิ่งก็ลามจากโน้ตบุ๊กมาเป็น "เกมมิ่งแท็บเล็ต" บ้างแล้ว
ตลาดแท็บเล็ตสำหรับเกมเมอร์ เริ่มบุกเบิกโดย NVIDIA Shield แต่ช่วงหลัง ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นเริ่มเข้ามาลุยบ้างเช่นกัน ค่าย Acer ที่มีโน้ตบุ๊กและพีซีแบรนด์ Predator ก็ขอร่วมวงกับเขาด้วย Acer Predator 8 เกมมิ่งแท็บเล็ตตัวแรกของบริษัท
สเปกคร่าวๆ ของ Acer Predator 8 (GT-810) มีดังนี้
สเปกละเอียดดูได้จาก Acer
เนื่องจาก Predator 8 เป็นแท็บเล็ตสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ แต่เราก็ทราบดีว่าเกมบน Android ทั้งหมดอยู่บน Play Store อยู่แล้ว ในแง่ซอฟต์แวร์เกมคงไม่มีความแตกต่างกับแท็บเล็ตทั่วไป จุดเด่นที่ทำให้ Predator 8 น่าสนใจในสายตาของเกมเมอร์ มีด้วยกัน 3 อย่าง
ตัวแท็บเล็ตเองเลือกใช้หน้าจอขนาด 8 นิ้ว ซึ่งถือว่ากำลังดี หน้าจอใหญ่เล่นเกมสะใจ แต่ก็ยังพกพาสะดวกกว่าแท็บเล็ตขนาด 10 นิ้ว
ลำโพงสีแดงที่ 4 มุมด้านหน้า ช่องว่างระหว่างลำโพงยังเว้นไว้สำหรับการถือจับ (กริป) ระหว่างเล่นเกมได้ง่าย อันนี้ถือว่าทำการบ้านมาดี
ตัววัสดุเป็นพลาสติกสีเทา จับแล้วไม่ลื่นมือ ไม่ถึงกับหรูหรามาก แต่ในแง่อุปกรณ์สายเกมมิ่ง ความหรูคงไม่ใช่ประเด็นมากนัก
กล้องมีทั้งกล้องหน้าและหลัง (แต่กล้องก็ไม่ใช่ประเด็นมากนักสำหรับอุปกรณ์เกมมิ่ง)
พอร์ตเชื่อมต่อเป็น Micro USB อยู่ที่ขอบด้านบนของเครื่อง
จากการใช้งานพบว่าตัวเครื่องค่อนข้างเบา จับแล้วไม่เมื่อยมือ ขนาดของเครื่องกำลังดี ถือเล่นเกมในแนวนอนสะดวก จอสีสวยคมชัด ลำโพงเสียงดังดีมาก (มันเหมาะมากสำหรับเป็นแท็บเล็ตเปิดมิวสิกวิดีโอนอกสถานที่!) ตัวมอเตอร์สั่นก็ให้ความรู้สึกดี เหมือนเล่นเกมคอนโซลที่มีจอยสั่นเป็นมาตรฐาน
Predator มาพร้อมกับ Android 5.1 ที่ปรับแต่งหน้าตาไปพอสมควร หน้าโฮมมีด้วยกัน 3 หน้า
แอพที่ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องมีมากมาย อันที่ถือว่าเป็น bloatware ชัดเจนก็อย่างพวก Lazada, Opera Max, McAfee, Bookings.com มีเกมแถมมาให้หนึ่งเกมคือเกมขับรถ Alphalt 8
แอพของ Acer เองก็มีมาให้หลายตัว ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อ EZ (อีซี่) นำหน้า เช่น EZ Snap จับภาพหน้าจอด้วย gesture สามนิ้ว, EZ Tasking แบ่งครึ่งจอรันแอพสองตัว แบบเดียวกับมือถือซัมซุง
EZ Wakeup ท่า gesture ปลุกเครื่องให้ตื่นด้วยการใช้ 5 นิ้วแตะจอพร้อมกัน, EZ Gadget แอพอรรถประโยชน์ที่ลอยอยู่บนหน้าจอ พวกปฏิทิน เครื่องคิดเลข, EZ Note แอพจดโน้ตที่ไม่รู้ว่าใส่มาทำไม
หน้าจอ Settings ของ Predator ถูกแทรกซึมโดยตัวเลือกของแอพกลุ่ม EZ อยู่ไม่น้อย, ตัวระบบปฏิบัติการเป็น Android 5.1 ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้อัพเป็น 6.0 หรือไม่
ฟีเจอร์อีกอย่างที่น่าสนใจคือ MediaMaster ที่ให้เราปรับสีของจอตามโหมดต่าๆง เช่น เล่นเกม ดูหนัง ได้สะดวก อันนี้ผมคิดว่าดี แต่ก็คงไม่ใช่ของใหม่อะไรนัก ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่นก็มีฟีเจอร์แบบนี้กันมานานแล้ว
Acer Predator 8 ใช้ซีพียูค่ายอินเทล เป็น Atom x7-Z8700 (Cherry Trail) ที่เปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 2015 (ตอนนี้ถือว่าตกรุ่นไปแล้วหนึ่งรอบ เพราะอินเทลเพิ่งออก Atom x7-Z8750 ตามมา)
Atom x7 ถือเป็นซีพียูตัวท็อปสุดในสาย Atom SoC แล้ว แต่เทียบประสิทธิภาพก็ถือว่าด้อยกว่า Snapdragon หรือ Tegra รุ่นท็อปๆ อยู่พอสมควร โดยเฉพาะฝั่งจีพียูที่ยังเป็น Intel HD Graphics รุ่นของปี 2015 (อินเทลออก Intel HD Graphics 405 รุ่นปี 2016 มาแล้ว)
ผมลองรันเบนช์มาร์คหลายตัวให้พอเห็นภาพเปรียบเทียบกัน ได้ผลดังนี้
Antutu
Predator 8 ได้ 66,367 คะแนน ระดับใกล้เคียงกับ LG G4 และ Nexus 6
3DMark (Sling Shot)
วัดพลังกราฟิก Predator 8 ได้ 1523 คะแนน (เทียบกับ Galaxy S7 ได้ 2539 คะแนน และ NVIDIA Shield Android TV ได้ 4006 คะแนน)
Geekbench
วัดพลังซีพียู Predator 8 ได้ 1030 คะแนน (Single-Core) และ 3430 คะแนน (Multi-Core) ระดับใกล้เคียงกับ Nexus 6 และ OnePlus 2
ในแง่การใช้งานจริง เนื่องจากผมไม่มีเกมสาย 3D เก็บไว้มากนัก จึงทดสอบได้แค่ Asphalt 8 ที่แถมมากับเครื่อง ก็พบว่ากราฟิกลื่นไหลในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดที่กระตุกให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่บ้าง ถือว่าพอเล่นเกมได้เพลินๆ ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าหวังว่ามันจะเป็นแท็บเล็ตตัวเทพสำหรับเล่นเกม ในลักษณะเดียวกับ NVIDIA Shield ก็คงไม่ถึงขั้นนั้นครับ
สรุปว่า Acer Predator 8 ถือเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจของ Acer ในตลาดเกมมิ่งแท็บเล็ต ตัวเครื่องมีจุดเด่นด้านฮาร์ดแวร์ที่น่าสนใจทั้งลำโพงและมอเตอร์ อย่างไรก็ตาม ฝั่งซอฟต์แวร์ Acer ยังต้องปรับปรุงอีกพอสมควร (ไม่น่าจะมีเกมเมอร์รายไหนอยากได้ bloatware เพราะเปลืองสตอเรจ แถมเกมมายังจะดีซะกว่า)
ข้อดี:
ข้อเสีย:
ราคาเปิดตัว 14,990 บาท