รีวิว HP ZBook 15u G3 โน้ตบุ๊ก Mobile Workstation ในร่าง Ultrabook

by mk
21 March 2016 - 05:19

โน้ตบุ๊กสาย Workstation เป็นโน้ตบุ๊กอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมแบบเงียบๆ เพราะเป็นการใช้งานกับผู้ใช้เฉพาะทาง จุดเด่นของโน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์หรือความสะดวกในการพกพา แต่เป็นสเปกที่อัดแน่นมาสำหรับผู้ใช้กลุ่มโปร ความสามารถในการปรับแต่งหลากหลาย และพอร์ตเชื่อมต่อจำนวนมาก

HP ส่ง ZBook 15u G3 หนึ่งในโน้ตบุ๊กสาย Mobile Workstation ตัวล่าสุดมาให้ Blognone ทดสอบ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เรามาดูกันว่าโน้ตบุ๊กกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

HP เปิดตัวโน้ตบุ๊กแบรนด์ ZBook ครั้งแรกในปี 2013 มาถึงตอนนี้เข้าสู่ฮาร์ดแวร์ยุคที่สาม (G3) แล้ว โน้ตบุ๊กในซีรีส์ ZBook G3 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 แบ่งออกเป็น 4 รุ่นย่อย ได้แก่

  • ZBook 15 G3 โน้ตบุ๊กตัวมาตรฐาน จอ 15"
  • ZBook 17 G3 โน้ตบุ๊กตัวมาตรฐาน จอ 17"
  • ZBook 15u G3 โน้ตบุ๊กบางเบาแบบ Ultrabook จอ 15" (รุ่นที่รีวิวคือตัวนี้)
  • ZBook Studio โน้ตบุ๊กบางเบาแบบ Ultrabook จอ 15" สวยงาม สเปกแรงสุด

ความแตกต่างของ ZBook 15u กับ ZBook Studio โดยหลักๆ แล้วอยู่ที่สเปกและราคา ตัว ZBook 15u มีราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง (เริ่มต้นที่ 1,199 ดอลลาร์) ใส่ซีพียูได้สูงสุดคือ Core i7 ส่วน ZBook Studio ราคาเริ่มต้น 1,999 ดอลลาร์ ใส่ซีพียูได้สูงสุดเป็น Xeon E3

สเปก

เนื่องจากจุดเด่นของ HP ZBook คือปรับแต่งสเปกได้หลากหลายตั้งแต่ตอนสั่งซื้อ ทำให้ ZBook มีรุ่นย่อยเยอะมาก (เลือกซีพียูได้ตั้งแต่ Core i5 ถึง Core i7, เลือกระบบปฏิบัติการได้ Windows 7-10) สำหรับผู้สนใจสเปกทั้งหมดที่เป็นไปได้ อ่านได้จาก เว็บไซต์ HP

รุ่นที่ได้มาทดสอบ มีสเปกคร่าวๆ ดังนี้ครับ

  • ซีพียู Core i7-6600U (2.6GHz)
  • จีพียู Intel HD Graphics 520
  • จีพียู AMD FirePro W4190M (แรม 2GB)
  • แรม 32GB
  • SSD 256GB ของ Samsung
  • หน้าจอ 15.6" UWVA ความละเอียด 3840x2160
  • ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 7 Pro (เข้าใจว่าดาวน์เกรดมาจาก Windows 10 Pro)

หน้าตา

แรกเริ่มที่ได้เครื่องมา ความรู้สึกแรกเลยคือ "มันใหญ่เนอะ" (เรามาอยู่ในยุคที่โน้ตบุ๊ก 15" ถือว่าใหญ่กันแล้ว) อย่างไรก็ตาม เครื่องบางกว่าที่คิด (19.9 มิลลิเมตร) และน้ำหนักเบากว่าที่คิดเช่นกัน (ตามสเปกบอก 1.9 กิโลกรัม)

เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ทำงาน ดีไซน์ก็ไม่หวือหวานัก วัสดุเป็นสีดำเรียบๆ พร้อมโลโก้ HP ที่ฝา

ด้านใต้เครื่องก็ไม่มีอะไรพิเศษ ซีลปิดสนิท จะเสียบอะไรเพิ่มเติม (หรือแม้แต่เปลี่ยนแบตเตอรี่) ต้องถอดฝาใต้เครื่องออกเท่านั้น

ตัวเครื่องด้านข้าง ถือว่าค่อนข้างบางเลยสำหรับ Mobile Workstation

พอร์ตด้านซ้ายมี VGA, USB และช่องต่อขยายผ่านสมาร์ทการ์ด (SC)

พอร์ตด้านขวา มี USB Type-C, DisplayPort, ช่องเสียบหูฟัง, USB 3.0, LAN (RJ-45), ช่องอ่าน MicroSD/SD และสายชาร์จ

อุปกรณ์ป้อนข้อมูล เนื่องจาก ZBook 15u มีขนาดใหญ่พอสมควร จึงมีปุ่ม Numpad มาให้บนคีย์บอร์ดด้วย, ตัวชี้ตำแหน่งมีทั้งทัชแพดและ trackpoint

หน้าตาของ Numpad แบบชัดๆ คีย์บอร์ดสกรีนภาษาไทยมาให้เรียบร้อย

เนื่องจากโน้ตบุ๊กตัวทดสอบที่ได้มา มีหน้าจอละเอียดมาก แต่ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 7 ที่ค่อนข้างเก่าแล้ว ดังนั้นเวลาแสดงผลด้วยความละเอียดแบบ native (3840x2160) ก็จะเห็นทุกอย่างตัวเล็กเท่ามดครับ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพ

พอเป็นโน้ตบุ๊กสาย Workstation ที่งานของผู้ใช้แต่ละคนคงแตกต่างกันมาก (ไม่ว่าจะเป็นทำกราฟิก ขึ้นโมเดล หรือประมวลผลงานเฉพาะทาง) ผมเลยทดสอบด้วยเบนช์มาร์คมาตรฐานของท้องตลาดเท่านั้น พอให้เห็นภาพนะครับ

SPECviewperf 12

เบนช์มาร์คตัวนี้ติดมากับเครื่องด้วย รองรันดูก็ได้ผลออกมาตามภาพ

ฮาร์ดแวร์ของเครื่องที่ SPEC มองเห็น

Geekbench

Geekbench วัดประสิทธิภาพของซีพียูเพียงอย่างเดียว ได้ผลออกมาเป็น Single-Core 2993 คะแนน, Multi-Core 5429 คะแนน (อ้างอิง)

3DMark

3DMark วัดประสิทธิภาพกราฟิก ผมใช้เบนช์มาร์คตัวที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี รันการทดสอบได้ 3 ชุด

ผลการเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์รุ่นอื่นๆ อาจไม่ได้แรงที่สุดเมื่อเทียบกับพีซีเล่นเกมตัวท็อปๆ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับดีเลยทีเดียว

สรุป

HP ZBook 15u G3 ถือเป็นโน้ตบุ๊กกลุ่ม Mobile Workstation ที่น่าสนใจตัวหนึ่ง เพราะค่อนข้างลงตัวทั้งขนาดที่บางเบา (เมื่อเทียบกับ Mobile Workstation ด้วยกัน) สเปกที่แรงพอสมควร ในราคาที่พอจับต้องได้ (เมื่อเทียบกับรุ่นพี่ๆ ตัวอื่น)

ส่วนราคาขายในไทยเท่าไร อันนี้ต้องสอบถามไปยัง HP Thailand กันเองครับ

Blognone Jobs Premium