มาถึงตอนนี้ เลยเส้นตายการจ่ายค่าประมูลคลื่น 900MHz ที่บริษัท JAS ในเครือ Jasmine ชนะการประมูลเมื่อปลายปี 2558 ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นแปลว่า JAS ยอมทิ้งคลื่นที่ประมูลได้มาในราคาแพงระดับโลก
JAS ยังไม่แถลงข้อมูลหรือเหตุผลที่ไม่จ่ายค่าคลื่น (รอคำอธิบายจาก JAS กันต่อไป) คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ต่อจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่ง Blognone มีบทวิเคราะห์ดังนี้
ภาพประวัติศาสตร์ ภาพเดียวที่มีโลโก้ JAS 4G
จะเกิดอะไรขึ้นหลัง JAS ไม่จ่ายเงิน
สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ
- JAS ไม่มีสิทธิเข้าประมูลใบอนุญาตเดิมได้อีก
- JAS จะถูกริบเงินหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาท
- JAS ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประมูล
สิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
- JAS จะถูก กสทช. ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทอื่นๆ (เช่น 3BB) ด้วยหรือไม่ (ในระเบียบของ กสทช. ก็ไม่มีเรื่องนี้ เพราะไม่เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้น จึงขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ด กสทช.)
- กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ 900MHz สล็อต 1 อย่างไร แนวทางที่ กสทช. เสนอเบื้องต้นคืออีก 4 เดือนข้างหน้าจะจัดประมูลใหม่ โดยราคาเริ่มต้นที่ราคาเดิมของ JAS
บอร์ด กทค. จะประชุมกันในวันพุธนี้ (23 มีนาคม) ซึ่งจะมีมติอย่างเป็นทางการออกมาอีกทีหนึ่ง
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม
- การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะยังมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- True อาจจ่ายเงินค่าความถี่ 900MHz แพงเกินไป เมื่อมีผู้ชนะการประมูล 2 รายในราคาไล่เลี่ยกัน แต่มีรายหนึ่งถอนตัวไม่จ่ายเงินค่าประมูล ส่งผลให้มูลค่าคลื่นตามราคาตลาดอาจแพงเกินจริง (ราคาที่เสนอโดย JAS ไม่สะท้อนต้นทุนจริงในสายตาผู้ประกอบการ) อย่างไรก็ตาม True จ่ายเงินค่าความถี่ไปเรียบร้อยแล้ว ก็คงไม่มีทางถอยหลังอีก ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ไป
- คลื่น 900MHz จะว่างลงหนึ่งสล็อต ตรงนี้เราอาจมองได้ว่า True ไม่น่าจะเข้ามาประมูลอีกรอบ (เพราะได้คลื่นไปแล้ว/หมดเงินไปเยอะ) ดังนั้นคลื่นล็อตนี้จะเป็นการช่วงชิงกันระหว่างสองรายที่เหลือคือ AIS และ dtac แทน
- แต่ต้องไม่ลืมว่า ในปี 2562 คลื่นล็อตใหญ่ที่ dtac ถืออยู่จำนวน 50MHz (ใช้จริง 25MHz) จะหมดสัญญาสัมปทานลง (ถือเป็นสัญญาสัมปทานคลื่นอันสุดท้ายภายใต้ระบบเดิม) ภาวะที่เกิดขึ้นคือคลื่นจะล้นตลาด ถึงแม้การมีคลื่นในครอบครองเยอะๆ ย่อมส่งผลดี และผู้ประกอบการทุกรายอยากได้คลื่นไว้อยู่แล้ว แต่เมื่อ supply มีจำนวนมาก ราคาย่อมไม่แพงเหมือนการประมูล 900MHz อยู่แล้ว
- ในกรณีที่ กสทช. จัดการประมูลคลื่นใหม่ Timing หรือช่วงเวลาที่จะประมูลจึงสำคัญมาก เพราะถ้า กสทช. ยืดเวลาให้ช้าออกไปจนใกล้ปี 2562 เท่าไร ใกล้กับการประมูลคลื่นล็อตถัดไปเท่าไร ราคาของคลื่นล็อต 900MHz ก็ย่อมจะถูกลงเรื่อยๆ เพราะผู้ประกอบการมีตัวเลือกมากขึ้น (หรือไม่อย่างนั้น กสทช. ก็จัดประมูลพร้อมกันไปเลย)
ราคาของคลื่นที่จะประมูลใหม่
แนวคิดของการประมูลคลื่นคือ ไม่มีใครรู้ว่าราคาควรเป็นเท่าไร จึงให้การแข่งขันในตลาดเป็นตัวกำหนดราคาที่เหมาะสมของคลื่น ณ ช่วงเวลานั้น
ทุกคนทราบดีว่า ราคาสุดท้ายของคลื่น 900MHz แพงมาก ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของผู้ประกอบการทั้ง 4 รายที่ร่วมแข่งขันเสนอราคาในตอนนั้น
เมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนไป มุมมองต่อมูลค่าคลื่นย่อมเปลี่ยนไป ถ้าจัดการประมูลรอบใหม่ ราคาคลื่นย่อมต้องลดลงมาจากราคารอบที่ผ่านมา (และมุมมองของผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่ชนะคือ AIS กับ dtac ก็พูดตรงกันว่าสู้ราคาไม่ไหว)
ดังนั้นการจัดประมูลใหม่ โดยมีราคาตั้งต้นเท่าราคาสุดท้ายของรอบก่อน และหวังว่าจะมีคนมาเสนอราคาแข่ง จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย
Blognone มองว่า กสทช. ต้องลดราคาตั้งต้นลงมา แต่ก็เข้าใจความยากลำบากของ กสทช. ในการหาราคาตั้งต้นที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน (ไม่ว่าเลือกทางใด กสทช. ก็โดนด่าอยู่ดี) อย่างไรก็ตาม เราขอให้ กสทช. มองเรื่องการจัดสรรคลื่นไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มากกว่าการมองถึงตัวเลขรายได้จากการประมูล เพื่อเลี่ยงปัญหาการนำคลื่นไปกองไว้เฉยๆ เพราะจัดประมูลแล้วไม่มีใครมาเสนอราคา ถือเป็นการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างเสียเปล่า