วันนี้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยื่นจดหมายแสดงความคิดเห็นเรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้า โดยดีแทคเสนอแนวทางที่ “น่าจะเป็นไปได้” สำหรับการประมูลในรอบนี้ขึ้นมาครับ
แนวทางที่ดีแทคเสนอ ประกอบด้วยราคาตั้งต้นในการประมูลรอบใหม่ที่ กทค. มีมติว่าใช้ราคาสุดท้ายของ JAS เป็นราคาตั้งต้น (75,654 ล้านบาท) ดีแทคมองว่าราคาดังกล่าวสูงเกินความเป็นจริงสำหรับตลาดอุตสาหกรรม แม้จะเป็นผลดีต่อภาครัฐที่ได้รายได้จากการประมูลจำนวนมาก แต่ก็ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นในการลงทุน และความกังวลเรื่องต้นทุนการให้บริการที่สูงเกินความจำเป็น ทำให้ที่ผ่านมามูลค่าต้นทุนต่อตลาดอุตสาหกรรมของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลทั้งหมดลดลงกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลาประมูลเพียง 4 วัน
ดีแทคจึงเสนอให้ กสทช. พิจารณาปรับลดราคาตั้งต้นการประมูลลงมาเหลือ 16,080 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาตั้งต้นในกรณีที่มีผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย ดีแทคชี้ว่าวิธีดังกล่าว จะช่วยให้ กสทช. ได้รับทราบราคาคลื่นความถี่ที่แท้จริง ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ทำให้ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริงในตลาดอุตสาหกรรม
พร้อมกันนี้ดีแทคยังเสนอให้ออกข้อห้ามมิให้ผู้ชนะในการประมูลรอบที่แล้ว (TrueMove H) เข้าประมูลในรอบนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ว่า ผู้เข้าประมูลหนึ่งรายมีสิทธิ์ที่จะยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินหนึ่งชุดความถี่ ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ กสทช. ตั้งเอาไว้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และไม่เป็นการผูกขาดคลื่นความถี่ 900 MHz แต่เพียงรายเดียว
ดีแทคยังขอให้ กสทช. จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นการทั่วไปด้วย และดีแทคก็ยินดีที่เข้าร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อการออกเงื่อนไขรอบใหม่ เพื่อให้การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่สามารถสำเร็จได้อย่างลุล่วงครับ
ที่มา - จดหมายดีแทค
ดีแทค ไตรเน็ต ยี่นจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อ กสทช. ประเด็นประมูลใหม่คลื่น900MHz ชุดที่ 1
22 มีนาคม 2559 – ดีแทค ไตรเน็ต ยื่นจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อการนำคลื่น 900MHz ชุดที่ 1กลับมาประมูลใหม่ต่อการพิจารณาของ กสทช. แล้วในวันนี้ (22 มี.ค.)
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า“ดีแทคขอชื่นชม กสทช.ในการจัดการประมูลคลื่น 1800MHz และ 900MHz ที่ผ่านมาเพื่อให้มีแบนด์วิธตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก การมีคลื่นความถี่บริการอย่างพอเพียงทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ขยายประสิทธิภาพของบริการเพื่อรองรับการเติบโตได้ทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าราคาคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ที่สูงมากจากการประมูลคราวที่แล้วจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะยาว นอกจากนี้ การที่ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถชำระค่าคลื่นความถี่งวดแรกรวมทั้งไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันค่าคลื่นความถี่ต่อ กสทช. ได้ตามกำหนดนั้น อาจพิจารณาได้ว่าในการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ได้เกิด “ความต้องการเทียม” ในการประมูลและเป็นปัจจัยหลักในการดันราคาการประมูลให้สูงเกินกว่าความต้องการที่แท้จริงของอุตสาหกรรม
· การประมูลคลื่นราคาที่สูงอาจจะมองได้ว่าเป็นผลดีต่อรัฐในช่วงสั้นๆ แต่อาจมีผลเสียในระยะยาวเช่นลดประสิทธิภาพในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายของผู้ประกอบการ ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพิ่มความไม่แน่นอนขึ้นในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งผลให้มูลค่าตลาด (Market Capitalization) ลดลงเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้อาจจะกระทบต่อการนำไปสู่การสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอาจกระทบต่อหลักสำคัญของความสำเร็จในการผลักดันนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ของรัฐบาล
· ดีแทค ไตรเน็ตขอสนับสนุน กสทช. ในการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ใหม่ (Re-auction)ตามประกาศ กสทช. กฎการประมูลและเงื่อนไขการประมูลซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการประมูลคลื่น 900 ชุดที่ 1 ใหม่เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่น 900MHz คราวก่อน บริษัทฯ จึงเห็นว่าการประมูลคราวนี้ควรจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมการประมูลที่เหลืออยู่จากการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price)ของการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาทเท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHz คราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย) ซึ่งโดยวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
· นอกจากนั้น ดีแทค ไตรเน็ต ขอเสนอให้ กสทช. จัดให้การรับฟังความเห็นสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นการทั่วไปด้วย โดยบริษัทฯ ยินดีให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ต่อ กสทช.ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะมีขึ้นเพื่อนำไปสู่การจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ชุดที่ 1 (Re-auction) ด้วยความสำเร็จลุล่วงด้วยดีต่อไป