นักวิจัยจาก MIT เสนอการจราจรตรงทางแยกในยุครถยนต์ไร้คนขับ โดยใช้วิธีจัดตารางเวลา

by nutmos
25 March 2016 - 01:52

สัญญาณไฟจราจรถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 โดยสัญญาณไฟจราจรถือเป็นอุปกรณ์ช่วยการจราจรตรงทางแยก แต่ในอนาคตที่รถยนต์กำลังจะไร้คนขับอย่างเต็มตัวแล้ว เทคโนโลยีที่ใช้มานับร้อยปีอาจต้องเปลี่ยนใหม่

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจาก MIT ได้เสนอสัญญาณไฟจราจรยุคใหม่ ใช้วิธีการจัดตาราง (จากรายงานใช้คำว่า Slot-based Intersections หรือ SI) โดยใช้ทฤษฎีแถวคอย (queuing theory) เนื่องจากเมื่อรถกลายเป็นรถยนต์ไร้คนขับแล้ว การจะเปลี่ยนไปใช้ระบบจัดตารางการจราจรตรงทางแยกจึงเป็นไปได้ เพราะว่ารถยนต์แต่ละคันสามารถคุยกับคอมพิวเตอร์ หรือคุยกันระหว่างรถยนต์ได้ ฉะนั้นการจัดตารางก็จะให้รถยนต์คุยกับคอมพิวเตอร์

นักวิจัยกล่าวว่า ระบบไฟสัญญาณจราจรมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ศึกษาการไหลของจราจรผิดเพี้ยนไป ทำให้เกิดปัญหาการจราจรในเมืองหลายแห่ง เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดคอขวดในการจราจร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง

การจัดตารางรถยนต์นั้น จะสามารถลดความหนาแน่นของการจราจรตรงทางแยก และลดความล่าช้าลงได้ คือเมื่อรถยนต์แต่ละคันใกล้ถึงทางแยก จะมีการควบคุมความเร็วให้สัมพันธ์กัน ทำให้รถยนต์แต่ละคันผ่านทางแยกไปได้โดยไม่ต้องหยุดรถ ลักษณะคล้ายกับการจัดการจราจรเครื่องบิน ที่มีตารางบินที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะขึ้นบินหรือลงจอดเมื่อไร

จากผลการทดสอบโดยการใช้ซอฟต์แวร์จำลอง พบว่าสามารถลดเวลาล่าช้าลงไปได้มาก แม้ว่ารถยนต์จะใช้ความเร็วในการเข้าทางแยกได้ช้าลง ซึ่งนักวิจัยก็ได้สรุปว่า ช้าลงจะทำให้เร็วขึ้น (slower is faster)

แม้ว่าในทางทฤษฎีด้านการจราจรจะดูเป็นไปได้ แต่แง่ความปลอดภัยแล้ว ไฟสัญญาณจราจรถือเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยที่สุดสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในเมือง การที่จะให้รถยนต์คุยกับคอมพิวเตอร์โครงสร้างพื้นฐานในเมืองนั้น จะเป็นหนทางทำให้เกิดช่องโหว่ได้ง่าย

ใครที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้สามารถอ่านฉบับเต็มพร้อมภาพประกอบได้จากที่มาครับ

ที่มา - Ars Technica, PLOTS ONE

Blognone Jobs Premium