ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งถึงเรื่องการใช้อุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ (wearable devices) ว่ามีข้อจำกัดมากมายในการตรวจที่ให้ผลอย่างแม่นยำ ล่าสุดวารสารทางการแพทย์อย่าง JAMA Internal Medicine ของสมาคมแพทยศาสตร์อเมริกัน ออกมาเผยแพร่งานวิจัยขนาดสั้นชิ้นหนึ่งจากคณะแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่าแม้แต่คุณสมบัติพื้นฐานอย่างการวัดกิจกรรมร่างกาย หรือการเผาผลาญของร่างกาย ก็ยังมีความไม่แม่นยำ
งานวิจัยดังกล่าวได้เปรียบเทียบอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ที่เอาไว้วัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกาย (มีอุปกรณ์ยอดนิยมอย่าง Fitbit และ Jawbone ด้วย) จำนวน 12 รุ่น เทียบกับวิธีทางแพทย์สองวิธีคือ metabolic chamber ที่ตรวจหาการเผาผลาญและการใช้พลังงานของร่างกายใน 24 ชั่วโมง และ doubly-labeled water (DLW) ที่ตรวจหากิจกรรมการเผาผลาญของร่างกายใน 15 วัน โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ใหญ่ 19 คน ที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ทั้ง 12 ชิ้น (ใส่ยังไงอันนี้ไม่ได้บอกนะครับ) เทียบกับวิธีการตรวจหาที่เป็นมาตรฐานทั้งสองวิธีข้างต้น พบว่าอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่เหล่านี้ ให้ค่าผิดไปจากวิธีปกติทางการแพทย์ไปมาก
ผลจากอุปกรณ์เมื่อเทียบกับวิธีแรก (metabolic chamber) ให้ค่าที่แกว่งมากตั้งแต่ต่ำกว่าวิธีปกติ 278 kcal ไปจนถึงเกินไปกว่า 204 kcal (ค่าที่วัดได้จากวิธีแรกอยู่ที่ 2,093 kcal) และเมื่อเทียบกับวิธีที่สอง (DLW) ซึ่งค่ากลางอยู่ที่ 2,314 kcal อุปกรณ์เหล่านี้ก็ให้ค่าเพี้ยนโดยให้ค่าต่ำกว่าจริง ตั้งแต่ 69 kcal ไปจนถึง 590 kcal ซึ่งถึงแม้ทีมวิจัยจะระบุว่า อาจมีในบางช่วงที่กลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพราะต้องชาร์จแบตเตอรี แต่ก็เพียงพอที่จะสรุปได้ว่ามีความไม่แม่นยำเพียงพอ
ที่มา - MedPageToday, งานวิจัยต้นฉบับ (ต้องเป็นสมาชิกหรือเข้าผ่านหน่วยงานที่เป็นสมาชิก)
ภาพโดย Intel Free Press (สัญญาอนุญาต CC BY-SA 2.0)