ค้นหาอนาคตกูเกิล จากงาน Google I/O 2008

by mk
31 May 2008 - 16:19

จากข่าว กูเกิลโชว์ HTC Dream รัน Android หลายคนคงรู้จักกับงาน Google I/O กันแล้ว Google I/O หรือชื่อเต็มคือ "Innovation in the Open" เป็นงานสัมมนาประจำปีสำหรับนักพัฒนาของกูเกิล จัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรกที่ Moscone Center ในซานฟรานซิสโก (ที่เดียวกับแอปเปิลใช้จัดงาน MacWorld นั่นล่ะครับ)

นอกจากเดโม Android แบบเต็มตา กูเกิลยังขนผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ มาโชว์ให้นักพัฒนาดูกันอย่างเต็มท่ี เรียกว่าถ้าอยากรู้ทิศทางในอนาคตของกูเกิลว่าจะมุ่งหน้าไปทางไหน มางาน Google I/O รับรองได้คำตอบ

Google I/O

Google I/O เป็นงานสัมมนาของบรรดานักพัฒนา 2,500 คน มาชุมนุมกันเป็นเวลา 2 วันเต็ม ระหว่างนี้มีทั้ง keynote ใหญ่เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ของกูเกิล และ session ย่อยอีกมากมายที่วิศวกรของกูเกิล จะมาลงรายละเอียดในระดับโค้ด ก่อนอื่นผมอยากให้ดูผัง session ทั้งหมดของงาน โดยกูเกิลแบ่งหมวด session ออกเป็น 6 หมวดดังนี้ AJAX, Tools, Social, Geo, Mobile, Tech Talk

ถ้าไม่นับ Tech Talk ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคทั่วไป (เช่น Python, โอเพนซอร์ส ฯลฯ) คนที่ติดตามผลิตภัณฑ์ของกูเกิลมาบ้าง เห็นชื่อ 5 หมวดที่เหลือแล้วคงนึกภาพออกทันทีว่า อนาคตของกูเกิลคืออะไรบ้าง

  • AJAX - Google Gears และ AJAX API
  • Tools - GWT, App Engine และ API ต่างๆ
  • Social - OpenSocial
  • Geo - Google Maps และ Earth
  • Mobile - Android

สโลแกนของงานนี้คือ “Client, Connectivity, and the Cloud” ซึ่ง TechCrunch ตีความว่า "making the cloud more accessible" พระเอกของงานก็ตามสโลแกนครับ ได้แก่ Gears (Client), Android (Connectivity) และ App Engine (Cloud) นั่นเอง

ภาพจาก TechCrunch

Gears

ประกาศที่สำคัญในงานคือการเปลี่ยนชื่อ Google Gears มาเป็น Gears เฉยๆ (ประกาศจาก Google Official Blog) เพื่อแสดงว่า Gears นั้นเป็นโครงการโอเพนซอร์สที่ใครๆ ก็นำไปใช้ได้ (สัญญาอนุญาตแบบ BSD) ไม่ได้เป็นแค่ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลเพียงเจ้าเดียวอีกต่อไป

โครงสร้างทางเทคนิดของ Gears แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ local storage server สำหรับเก็บไฟล์, database (เป็น SQLite) สำหรับเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่ไฟล์ และ worker pool ที่ทำหน้าที่ sync ระหว่างเครื่องของเรากับเซิร์ฟเวอร์ (รายละเอียดดูใน Gears Developer Site)

ภาพจาก TechCrunch

ปัจจุบันนอกจาก Google Docs กับ Google Reader ของกูเกิลเองแล้ว ยังมีเว็บแอพพลิเคชันที่ใช้ Gears ไม่เยอะนัก (อีกรายคือ Zoho) ในงาน Google I/O นี้จึงเป็นการเปิดตัวลูกค้ารายใหม่คือ MySpace ซึ่งใช้ Gears ในระบบส่งข้อความระหว่างเพื่อนของตัวเอง แต่ MySpace ยังไม่ได้เปิดใช้ฟีเจอร์ส่งข้อความแบบออฟไลน์ ใช้แค่ระบบค้นหาแบบ full text ในฐานข้อมูลของ Gears มาเพิ่มความสามารถให้ผู้ใช้ MySpace สามารถค้นหาข้อความของตัวเองที่เคยส่งไปให้เพื่อนได้

นักพัฒนาของ Gears ยังโชว์ฟีเจอร์ใหม่ๆ อีกบางส่วน

  • เว็บแอพพลิเคชันสามารถสร้างไอคอนของเว็บไว้บนเดสก์ท็อปได้ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงโดยดับเบิลคลิกที่ไอคอนโดยตรง (เหมือนกับ Mozilla Prism)
  • ระบบแจ้งเตือน (notification) ซึ่งจะส่งผลให้เว็บแอพพลิเคชันมีลักษณะใกล้เคียงกับแอพพลิเคชันแบบปกติมากขึ้น
  • เลือกไฟล์ที่ต้องการอัพโหลดได้หลายไฟล์พร้อมกัน
  • แบ่งส่วนไฟล์ขนาดใหญ่เป็นหลายๆ ชิ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอัพโหลดในกรณีที่เน็ตเวิร์คไม่ดี
  • สนับสนุนข้อมูลพิกัดที่อยู่ของผู้ใช้ (เป็นละติจูด ลองจิจูด) สำหรับแอพพลิเคชันที่ต่อกับ Google Maps
  • กำลังพัฒนาให้รองรับเว็บแคมและไมโครโฟน

แวดวงเว็บแอพพลิเคชันแบบออฟไลน์นี้ยังเพิ่งเริ่ม คู่แข่งในสายนี้ได้แก่ Mozilla Prism (แต่จริงๆ แล้วผมว่าเป็น offline storage ใน Firefox 3 มากกว่า), Adobe AIR และ Yahoo BrowserPlus ซึ่งมีแนวทางต่างกันไปในรายละเอียด

ที่มา

Android

เนื่องจากสมรภูมิระบบปฏิบัติการบนมือถือกำลังระอุ และแอปเปิลกำลังจะประกาศข่าวเกี่ยวกับ iPhone ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ Android ว่ากูเกิลจะเอาอะไรมาโชว์กันแน่

ภาพจาก TechCrunch

กูเกิลเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิกของ Android ไปหมดแล้วเมื่อปลายปี 2007 (รายละเอียดดูใน Android Developer Challenge - โอกาสทองของเด็กไทย) ทุกคนรู้หมดแล้วว่า Android ทำงานอย่างไร ประกอบด้วยเคอร์เนลลินุกซ์ ใช้ syntax ภาษาจาวาแต่คอมไพล์เป็นไบต์โค้ดแบบใหม่ มี SDK และ emulator ให้พร้อมดาวน์โหลด มีโครงการ Android Developer Challenge จูงใจให้สร้างโปรแกรมบน Android ฯลฯ แต่สิ่งที่ทุกคนอยากเห็น (และยังไม่มีใครเห็น) คือตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือของจริงที่รัน Android ซึ่งกูเกิลเองก็รู้ความต้องการตรงนี้ดี และเดโม Android ตัวเป็นๆ ให้ดู

ผมแปะวิดีโอมาให้ดูหนึ่งอันเพื่อความสะดวก ส่วนวิดีโออันอื่นๆ ดูได้จาก AndroidCommunity

นอกจากเดโมของแท้แล้ว ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ Android ที่ประกาศในงานมีดังนี้ครับ

  • ฮาร์ดแวร์ที่เดโมใช้ซีพียูจาก Qualcomm 528MHz มีแรม 128MB และ Flash 256MB
  • โทรศัพท์ที่เดโมเป็นระบบสัมผัส แต่ยังไม่ใช่มัลติทัช ซึ่งทางกูเกิลบอกว่าขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเองว่าจะใส่ฮาร์ดแวร์มัลติทัช พร้อมไดรเวอร์มาหรือเปล่า
  • นอกจากทัชสกรีนแล้ว ยังสนับสนุนอินพุตผ่าน D-pad และแทร็คบอล
  • เครื่องที่นำมาเดโมมีเข็มทิศด้วย และแอพพลิเคชันสุดเจ๋งคือ Google Maps Street View ซึ่งจะแสดงหน้าจอตามทิศที่เราหันโทรศัพท์ไปหา (ถ้าถือโทรศัพท์แล้วหมุนรอบตัว ก็ได้เห็นทัศนียภาพของ Street View จุดนั้นรอบทิศทาง)
  • มีความเป็นไปได้สูงมากที่ Android จะมี App Store แบบ iTunes เพราะในภาพหน้าจอมีไอคอน Market ชัดเจน และหัวหน้าทีม Android เองก็ให้สัมภาษณ์ว่า การมีสถานที่ให้ผู้ใช้ Android ได้ดาวน์โหลดและซื้อหาซอฟต์แวร์อย่างสะดวกเป็นเรื่องที่ดี - Register
  • Android จะเปิดให้ดาวน์โหลดทันทีที่โทรศัพท์รุ่นแรกวางขาย และผู้ใช้สามารถทำอะไรกับมันก็ได้ เพราะเป็นโอเพนซอร์ส นักพัฒนากับกูเกิลถึงกับบอกว่า จะเอาโปรแกรมของกูเกิลทั้งหมดออก แล้วใส่โปรแกรมของยาฮูเข้าไปแทนก็ไม่มีปัญหา
  • Android จะไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์เหมือนกับ iPhone คือเมื่อมันวางขาย คนจากทุกที่ในโลกสามารถนำไปใช้ได้อย่างไม่มีปัญหา และกูเกิลให้ความสำคัญกับทุกประเทศเท่ากัน
ภาพจาก Android Community

ที่มา

App Engine

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า App Engine เป็นผลิตภัณฑ์เรือธงของกูเกิลประจำปีนี้เลย และขอให้จับตาคำว่า "Cloud" ดีๆ ครับ กลายเป็นศัพท์ยอดฮิตอีกหนึ่งคำแน่นอน (สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตาม ดูข่าวเก่า กูเกิลเปิดตัวบริการ Cloud Computing เต็มรูปแบบในชื่อ Google App Engine)

ภาพจาก TechCrunch

ประกาศสำหรับ App Engine ในงานนี้

  • จากเดิมที่ต้องสมัครและรอ invitation ตอนนี้ App Engine เปิดรับทุกคนแล้ว
  • ประกาศโครงสร้างราคา (เริ่มใช้จริงปลายปีนี้)
    • พื้นที่เก็บข้อมูล 500 MB แรกไม่คิดเงิน และให้ pageview 5 ล้านต่อเดือน ส่วนที่เหลืออยากได้จ่ายเพิ่มตามอัตรานี้
    • $0.10 - $0.12 per CPU core-hour
    • $0.15 - $0.18 per GB-month of storage
    • $0.11 - $0.13 per GB outgoing bandwidth
    • $0.09 - $0.11 per GB incoming bandwidth
  • เพิ่ม API อีก 2 ตัว
    • Memcache API สำหรับงานที่โหลดหนักๆ และต้องการประสิทธิภาพ
    • image manipulation API สำหรับแอพพลิเคชันที่ต้องการดัดแปลงแก้ไขรูปภาพภายในตัว กูเกิลบอกว่าใช้เอนจินเดียวกับของ Picasa

ที่มา

OpenSocial

แนวรบด้าน Social Network ก็ระอุไม่แพ้กัน สถานะล่าสุดตอนนี้กลายเป็นพันธมิตร OpenSocial ซึ่งนำโดยกูเกิลและเว็บรายย่อยๆ ปะทะกับ Facebook ไปเสียแล้ว (ข่าวเก่า: MySpace, Facebook, Google แข่งเปิด API สำหรับ Social Network, Facebook แบน Google Friend Connect)

ในงานนี้กูเกิลพูดถึง Google Friend Connect นิดเดียว แต่ OpenSocial นี่เยอะเลย

ภาพจาก TechCrunch

เริ่มต้นตามธรรมเนียมปฎิบัติของสตีฟ จ็อบส์ คือเอาตัวเลขเข้าข่มก่อน หลังจากเปิดตัวมาได้ครึ่งปี OpenSocial มี

  • ผู้ใช้: 275 ล้าน
  • นักพัฒนา: 20,000
  • แอพพลิเคชันถูกติดตั้งไป: 50 ล้านครั้ง
ภาพจาก TechCrunch
  • ส่วนประกอบที่สำคัญของพันธมิตร OpenSocial มี 3 อย่างคือ OpenID, OAuth และ OpenSocial
  • ยกตัวอย่าง Open Social Containers หรือผู้ให้บริการ social network ที่รองรับ OpenSocial เช่น iGoogle, iLike, Hi5, LinkedIn, iMeem, Orkut
  • AOL ร่วมวง OpenSocial โดยจะเริ่มจาก OAuth
  • OpenSocial รุ่นใหม่ 0.8 มาพร้อมกับ RESTful API
  • โครงการ Apache Shindig สำหรับ OpenSocial แบบโอเพนซอร์ส

สำหรับคนสนใจ OpenSocial แนะนำให้อ่านสไลด์บน SlideShare สองอัน ละเอียดดีมาก

ที่มา

อื่นๆ

รวมข่าวประกาศของผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ

  • Google Web Toolkit เวอร์ชัน 1.5 RC รองรับ Java 5 และเพิ่มประสิทธิภาพของคอมไพเลอร์ - GWT Blog
  • ใช้ Google Earth ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ โดยลงเฉพาะปลั๊กอิน ไม่ต้องลงตัวโปรแกรมเต็ม ให้อารมณ์เหมือน Google Maps ตอนนี้ยังใช้ได้แต่บนวินโดวส์ - WebWare

สรุปครับ อนาคตของกูเกิลเป็นไปตามที่หลายคนพยากรณ์ไว้ คือนำบริการของตัวเอง (OpenSocial และอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี) ไว้บน cloud (App Engine) และสร้างช่องทางให้คนเข้าถึง cloud นี้ให้มากที่สุดที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ (Android) หรือเว็บแอพพลิเคชันจากนอกเว็บเบราว์เซอร์ (Gears) แผนการนี้ต่อเนื่องจากแผนการระยะแรกของกูเกิลที่เน้นข้อมูล (content) มาเป็นแอพพลิเคชันที่สามารถใช้กับข้อมูลเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบปฏิบัติการหรือเว็บเบราว์เซอร์บนพีซีแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

เราจะเห็นว่ากูเกิลมีคู่แข่งอยู่แทบทุกแนวรบ

  • App Engine เจอกับ Amazon EC2 และ S3
  • OpenSocial เจอกับ Facebook Platform
  • Android เจอกับ iPhone, Windows Mobile, Symbian, BlackBerry ฯลฯ
  • Gears เจอกับ Mozilla, Yahoo และ Adobe
  • GWT เจอกับ JavaScript framework อื่นๆ อีกมากมาย

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าพลังการเงินและเทคโนโลยีของกูเกิล รวมกับนโยบายเปิดกว้าง (สร้างพันธมิตรอย่างใน Android หรือ OpenSocial, เปิดเผยซอร์สโค้ดอย่างใน Gears กับ Android) จะประสบความสำเร็จแค่ไหน

รวมลิงก์รายงาน Google I/O ในภาพรวม (ไม่เจาะลงรายผลิตภัณฑ์)

Blognone Jobs Premium