รีวิวเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก Acer Predator 17 รวมสุดยอดเทคโนโลยีล่าสุด

by ipats
29 March 2016 - 08:24

ผมได้รับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กอีกตัวหนึ่งมารีวิว คราวนี้มาจากค่าย Acer รุ่น Predator 17 ซึ่งแบรนด์ Predator ก็เป็นแบรนด์สายเกมมิ่ง คล้ายกับแบรนด์ Republic of Gamers (ROG) ของ Asus ที่ได้รีวิวไปก่อนหน้านี้นั่นเองครับ

สเปคของเครื่องที่ได้รับมาทดสอบ

Acer Predator 17 (G9-791-72Q4)

  • CPU : Intel Core i7 6700HQ
  • RAM : 32 GB (16 GBx2) DDR4-2133
  • Storage : 2x256 GB Liteon SSD + 2 TB Samsung HDD
  • GPU : Intel HD Graphics 530 + NVIDIA GeForce GTX 980M – 1536 Shaders / 4 GB RAM
  • Display: 17" Full HD 1920x1080
  • Network: Killer Wireless-n/a/ac 1535 Dual Band + Killer e2400 Gigabit Ethernet
  • Others: 4xUSB 3.0, USB Type-C (Thunderbolt 3), 2x Audio I/O, DisplayPort + HDMI, ตัวอ่าน SD Card, ไดรฟ์บลูเรย์

รูปลักษณ์ภายนอก

ตัวเครื่องโทนสีดำ-แดง ลักษณะค่อนข้างหนา มีน้ำหนักประมาณ 4.2 กิโลกรัม ด้านหลังมีโลโก้พร้อมไฟสว่างเมื่อเปิดเครื่อง ด้านล่างเป็นรูระบายอากาศ

ด้านซ้ายประกอบด้วยรูชาร์จไฟ พอร์ต USB 3 จำนวน 2 พอร์ต, ช่องเสียบไมค์, ช่องเสียบหูฟัง, ช่องอ่านการ์ด SD และไดรฟ์บลูเรย์ (สามารถถอดเปลี่ยนเป็นพัดลมได้)

ด้านขวาของเครื่องมีรูล็อกเครื่อง, พอร์ตแลน, DisplayPort ขนาดเต็ม, HDMI, USB 3 อีก 2 พอร์ต และ Thunderbolt 3 (USB Type-C)

ด้านล่างของเครื่อง มีลำโพง Subwoofer ถัดลงมา จะเห็นสลักสำหรับล็อกไดรฟ์บลูเรย์ สามารถเลื่อนเพื่อปลดล็อกสำหรับสลับเอาพัดลมใส่เข้าไปแทนได้

เทียบพัดลมกับไดรฟ์บลูเรย์

ส่วนด้านหน้าของเครื่อง มีลำโพงซ้าย-ขวา หน้ากากลำโพงสีแดง

เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา จะเห็นคีย์บอร์ดขนาดเต็ม พร้อมแป้นตัวเลข และ Gaming Key ทางด้านซ้าย ทางมุมบนขวาด้านล่างจอภาพจะเป็นไฟสถานะ 3 ดวง คือ ฮาร์ดดิสก์, แบตเตอรี่และสถานะเปิดเครื่อง สามารถมองเห็นได้ แม้พับหน้าจอลงมา

ปุ่ม WASD และปุ่มลูกศรมีการเน้นสีต่างจากปุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากปิดไฟคีย์บอร์ดแล้ว ตัวหนังสือภาษาไทยสีแดงบนปุ่มสีดำ แทบจะมองไม่ออกเลย ถ้าไม่ได้อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอสมควร

ตัวไฟใต้คีย์บอร์ดหลักมีสีแดงและส่วนแป้นตัวเลขจะมีสีน้ำเงิน สามารถเปิด-ปิดไฟแยกโซนได้จากแอปพลิเคชัน PredatorSense ที่มากับเครื่อง แบ่งไฟออกเป็น 4 โซน แต่พบว่าถ้าปิดไฟเป็นบางโซน แสงจากข้างๆ ก็สามารถลอดผ่านมาได้อยู่ดี และแสงที่ออกมาจากตัวหนังสือบนแป้นก็ไม่ได้สว่างมากนัก รวมถึง ผมหาทางปรับเพิ่ม-ลดแสงของไฟไม่ได้ด้วย (ภาพด้านบนผมถ่ายในห้องที่แสงน้อย แล้วเร่งความสว่างจากภาพเพื่อให้เห็นแสงจากคีย์บอร์ด)

ทางด้านปุ่ม Gaming Key มีให้ตั้งค่าได้ 5 ปุ่ม และมีปุ่มสำหรับเปลี่ยน Preset โดยเปลี่ยนได้ 3 ชุด (ไฟบนปุ่ม P จะเปลี่ยนเป็นสีแดง-เขียว-น้ำเงิน ตามพรีเซ็ตขณะนั้น ส่วนปุ่ม 1-5 จะมีไฟติดเฉพาะปุ่มที่เซ็ตค่าไว้แล้ว)

นอกจากนี้ยังมีปุ่มพิเศษอีกปุ่มนึงคือ ปุ่มปิดทัชแพดและปุ่มวินโดวส์เพื่อไม่ให้พลาดไปกดระหว่างเล่นเกม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ทัชแพด พร้อมไฟสถานะสีเขียว

ส่วนอะแดปเตอร์ของเครื่องมีขนาดเล็กกว่า iPhone 6s Plus เล็กน้อย (ที่เห็นสีขาวๆ รองด้านล่าง) จ่ายไฟได้ประมาณ 180 วัตต์ มีน้ำหนัก 7 ขีด

ฮาร์ดแวร์

CPU

เครื่องที่ได้มารีวิวใช้ CPU Intel Core i7 รหัส 6700HQ (Skylake) ซึ่งถือเป็นเป็น CPU รุ่นล่าสุดของ Intel มีหน่วยประมวลผล 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็วสูงสุด 3.5GHz

ได้คะแนนจาก CPU-Z ไป 1652/6826

GPU
ทางด้าน GPU เครื่องนี้สามารถใช้ GPU ได้ทั้งสองตัว คือ Intel HD Graphics 530 เมื่อไม่ได้ใช้งานด้านกราฟิกเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและ NVIDIA GeForce GTX 980M เมื่อต้องการประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

สำหรับคะแนนของ GTX 980M ที่ทดสอบด้วย 3DMark เป็นดังนี้ครับ

Cloud Gate - คะแนนการทดสอบสำหรับคอมพิวเตอร์พื้นฐานทั่วไป รายละเอียด

Sky Diver - คะแนนการทดสอบสำหรับเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก รายละเอียด

Fire Strike - คะแนนการทดสอบสำหรับเกมมิ่งพีซี รายละเอียด

SSD และ ฮาร์ดดิสก์

โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ มี SSD/ฮาร์ดดิสก์มากถึง 3 ลูกด้วยกัน โดยเป็น SSD 2 ลูกและฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนอีก 1 ลูก โดย SSD ทั้งสองลูกมีขนาด 256GB (มองเห็นความจุ 238 GiB) ซึ่งตั้งค่าผูกกันมาเป็น RAID 0 มีความจุรวมประมาณ 477GiB และมีความเร็วในการอ่านแตะระดับ 1GB/s เลยครับ ส่วนความเร็วในการเขียน ก็อยู่ที่ประมาณ 700MB/s

ส่วนฮาร์ดดิสก์จานหมุน ใส่พื้นที่มาให้ถึง 2TB เลยทีเดียว มีความเร็วในการอ่าน/เขียนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 120MB/s

แบตเตอรี่

ตัวแบตเตอรี่ของเครื่อง มีขนาดอยู่ที่ 90000mWh (ขณะทดสอบเก็บประจุได้ที่ 87720mWh) สำหรับในการใช้งานทั่วไป (เล่นเน็ต เฟสบุ๊ค ดูวิดีโอสตรีมมิ่ง) ระบบจะกินพลังงานต่ำมาก และสามารถอยู่ได้โดยเฉลี่ย 4-5 ชั่วโมงเลยทีเดียว (เท่าที่ลอง ใช้ได้นานสุดคือดูหนังอย่างเดียว จะได้ 6-7 ชั่วโมง)

เมื่อเล่นเกม ระบบจะตัดไปใช้การ์ดจอ GTX 980M ทำให้บริโภคพลังงานสูงขึ้นมาก อายุการใช้งานจะลดลงเหลือประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

คุณสมบัติอื่นๆ

ระบบเสียง Dolby Audio ทำให้เสียงมีมิติเหมาะกับการชมภาพยนตร์และเล่นเกมมาก คุณภาพดีกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

การทดสอบจากเกม

Dying Light
ตั้งค่า Very High/High ทุกอย่าง (ปรับสูงสุดหมด) ได้เฟรมเรทเฉลี่ยประมาณ 50-60fps

Assassin's Creed Unity
ในระดับ Ultra High สามารถทำเฟรมเรทไปได้ประมาณ 30fps, ระดับ Very High ได้ 45fps และในระดับ High จะทำได้ถึง 55-60fps

Metro: Last Light Redux
เมื่อปรับ Quality เป็น Very High และปิด SSAA จะได้เฟรมเรทเกิน 60fps เล็กน้อย แต่หากใช้ SSAA 2X จะได้เฟรมเรทเหลือประมาณ 35fps

Need For Speed
ตั้งค่า Ultra ทุกอย่าง สามารถทำเฟรมเรทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70fps โดยมีบางฉากขึ้นไปได้สูงสุดถึง 80fps

The Division
ผล Benchmark เมื่อใช้ Preset Ultra ทำเฟรมเรทได้เฉลี่ย 46fps โดยหากปรับใช้ Nvidia HFTS (ระบบแสงเงาแบบพิเศษ) และ Post Fx AA เพิ่มเติม จะลดลงเหลือ 38fps

ส่วนในเกมตั้งค่า Preset Ultra สามารถทำเฟรมเรทไปได้เฉลี่ยประมาณ 45-50 fps และเมื่อใช้ Nvidia HFTS เฟรมเรทจะตกลงเหลือประมาณ 35-40 fps

ข้อดี

  • สเปคเครื่องที่สูงมาก ในขนาดเครื่องที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้
  • หน้าจอขนาดใหญ่ ความละเอียด Full HD 17 นิ้ว
  • คีย์บอร์ดขนาดเต็ม พร้อมแป้นตัวเลข ปุ่มมาโคร และไฟใต้คีย์บอร์ด
  • ระบบเสียงที่เยี่ยมยอดสำหรับโน้ตบุ๊ก
  • พอร์ตเชื่อมต่อที่หลากหลาย ทั้ง DisplayPort, HDMI, USB มากถึง 4 พอร์ต รวมถึง USB Type-C พร้อมระบบเน็ตเวิร์คความเร็วสูง ทั้งแบบสายและไร้สาย (802.11ac dual-band ความเร็วสูงสุด 867 Mbps)
  • พื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้ง SSD ขนาด 480GB และฮาร์ดดิสก์ 2TB
  • มีไดรฟ์บลูเรย์ สามารถอ่านแผ่นได้เกือบทุกชนิด และสามารถถอดเปลี่ยนเป็นพัดลมระบายความร้อนได้
  • สามารถสลับการทำงานของการ์ดจอเพื่อประหยัดพลังงานเวลาใช้งานเบาๆ ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

ข้อเสีย

  • คีย์บอร์ดที่เกือบจะสมบูรณ์ แต่ยังมีสิ่งที่ขาดๆ แปลกๆ อยู่หลายอย่าง เช่น ไฟที่ไม่ค่อยสว่างและปรับไม่ได้ (แต่ในบางรุ่นสามารถปรับได้แบบ RGB เลย), ไม่มีไฟสถานะของปุ่ม Num Lock, Caps Lock, ไฟปุ่มเปิดเครื่องที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาจทำให้เกะกะสายตา เป็นต้น
  • เสียงพัดลมค่อนข้างดัง แต่ในขณะเล่นเกม เสียงลำโพงที่ดังกว่าก็กลบหมด
  • ขนาดใหญ่และหนัก โดยน้ำหนักรวมเครื่องกับอะแดปเตอร์ก็เกือบๆ 5 กิโลกรัม ทำให้การพกพาเพื่อใช้งานทั่วไปอาจจะลำบากสักหน่อย

สรุป

ตัวเครื่อง Acer Predator 17 ตัวนี้ มีดีไซน์ที่สวยงามและมีประสิทธิภาพที่สูงมาก เหมาะกับการเล่นเกมที่ออกใหม่ในปีนี้ และคาดว่าน่าจะเล่นเกมใหม่ๆ ไปได้อีกหลายปี ก่อนที่สเปคจะเริ่มตกรุ่น (อย่างน้อยก็ 2-3 ปีนี้) เพราะทั้ง CPU และ GPU ก็ล้วนแต่เป็นรุ่นที่เพิ่งออกได้ไม่นาน รวมถึงพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทำให้สามารถติดตั้งเกมใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ ไม่ต้องมาคอยลบเกมเก่าทิ้ง

ส่วนฟีเจอร์อื่น ถึงแม้จะทำได้ไม่ถึงกับสุดยอดเทียบเท่าเดสก์ท็อป แต่ก็ถือว่าทำได้ดีเยี่ยมในระดับโน้ตบุ๊กด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความเทอะทะของมันเหมือนกับโน้ตบุ๊กสายเกมเครื่องอื่นๆ ก็อาจจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากความ “portable” ของมันคุ้มค่าหรือไม่

Blognone Jobs Premium