หลังจากที่ไมโครซอฟท์โชว์ตัวอย่าง Start Menu แบบใหม่พร้อมเปิดรับคิดความเห็นจากชาว Windows Insider ให้ได้เลือกว่าถูกใจแบบใหม่หรือแบบเก่ามากกว่ากัน นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ถามความเห็นจากภายนอกบริษัทอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อนำมาปรับปรุง Start Menu ที่เป็นเอกลักษณ์คู่กับ Windows มาตั้งแต่ Windows 95 และเจ้า Start Menu นี่เองที่ใช้งานได้ดีจนทำให้ผู้ใช้งานเคยชินถึงระดับที่ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมก็อาจเจอเสียงบ่นกันระงมเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยน Start Menu เป็น Start Screen ใน Windows 8
เลยนึกอยากเขียนถึงบทสัมภาษณ์ผู้สร้าง Start Menu รุ่นแรก เกี่ยวกับที่มาที่ไปและความรู้สึกของเขาหลังจาก Windows 10 เปลี่ยนกลับมาใช้ Start Menu อีกครั้งซักหน่อย (เป็นบทสัมภาษณ์โดย Business Insider เขียนไว้ตั้งแต่ Windows 10 ออกใหม่ๆ อาจจะเก่าไปหน่อยแต่คิดว่ายังมีคุณค่าแต่การพูดถึงอยู่ครับ)
ภาพ Windows 95 ที่มาพร้อมกับ Start Menu และ Task bar จาก Wikipedia
Daniel Oran อดีตพนักงานผู้ออกแบบและถือสิทธิบัตร Start Menu และ Task bar บน Windows 95 เข้าร่วมไมโครซอฟท์เมื่อปี 1992 ในฐานะนักจิตวิทยาพฤติกรรม Oran จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ที่เขาได้ทำโปรเจ็กต์ด้านการออกแบบอินเตอร์เฟซเป็นครั้งแรกร่วมกับนักจิตวิทยาพฤติกรรมชื่อดัง BF Skinner กับความพยายามออกแบบคีย์บอร์ดสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะสอนชิมแปนซีวัยรุ่นสองตัวให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้!
"แล้ว ชิมแปนซีเรียนการพูดได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ ไม่ใกล้เคียงเลยซักนิด" อ้างอิงจาก สไลด์ที่ Oran ได้เขียนไว้ อย่างไรก็ตามโปรเจ็กต์ดังกล่าวก็ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกมากมายเกี่ยวกับการออกแบบโปรแกรมให้ใช้ได้ง่ายกระทั่งชิมแปนซีก็ใช้งานได้
คีย์บอร์ดที่ Oran สร้างขึ้นมาใช้สอนชิมแปนซีให้หัดพูดจากสไลด์ของ Oran
ปี ค.ศ. 1992 ยุคสมัยของ Windows 3.1 อันเป็นที่เลืองลือกันถึงความใช้งานยาก ในตอนนั้น Oran ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ Windows ให้ผู้ที่ไม่ได้ทำงานด้านเทคนิคสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ด้วยความที่ Oran เป็นแฟนตัวยงของระบบปฏิบัติการ Mac OS ของแอปเปิลทำให้เขาสามารถออกความเห็นที่เป็นมุมมองจากคนนอกได้
หนึ่งในก้าวแรกของการออกแบบคือการเก็บข้อมูลในขณะที่ลูกค้ากำลังใช้งาน Windows กันจริงๆ Oran และโปรแกรมเมอร์จะต้องสอนให้ผู้ทดสอบรู้ถึงวิธีการสั่งงานง่ายๆ บน Windows และดูว่าพวกเขาทำได้หรือไม่อย่างไร ภายในเวลาไม่นานการทดลองดังกล่าวก็ได้เป็นประสบการณ์น่าอึดอัดใจสำหรับ Oran เมื่อทางโปรแกรมเมอร์มองไม่ออกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้ใช้งานแต่เป็นตัวระบบปฏิบัติการเอง
Oran ยกตัวอย่าง ผู้ทดสอบคนนึงที่ใช้เวลาจ้องหน้าจอเดสก์ทอปของ Windows 3.1 เป็นเวลาถึง 20 นาทีก่อนจะสามารถเปิดโปรแกรมแก้ไขข้อความได้ โปรแกรมเมอร์คนนึงที่รับไม่ได้ถึงกับโพล่งออกมาว่า "ลูกค้าเรามันทึ่ม" ("Our customers are morons!") เรื่องน่าอึดอัดใจไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เมื่อพวกเขาพูดคุยกับผู้ทดสอบถึงได้ทราบในภายหลังว่าผู้ทดสอบทำงานวิศวกรรมการบินด้านการขับเคลื่อนให้กับบริษัทอย่างโบอิ้งเลยทีเดียว
"ผู้ใช้งานคนนั้นเป็นถึงนักวิทยาศาสตร์จรวด แต่ก็ยังมองไม่ออกว่า Windows ใช้งานยังไง" Oran กล่าว
ระหว่างทางที่ Oran นั่งรถกลับไปยังสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ที่ Redmond เขาก็ครุ่นคิดว่าสิ่งที่ผิดพลาดน่าจะเป็นที่การออกแบบและริเริ่มแนวคิดที่จะใช้ปุ่มกดเพียงปุ่มเดียวที่จะนำพาผู้ใช้งานไปสู่ทุกอย่างๆ เริ่มแรกเขาตั้งชื่อปุ่มดังกล่าวว่า "System" และวางมันไว้บนสุดของหน้าจอ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าใช้ศัพท์ที่ฟังดูเทคนิคเกินไป ไม่มีผู้ทดสอบคนใดคิดจะกดปุ่มนั้น แต่เมื่อตั้งชื่อใหม่เป็น "Start" ผู้ใช้ก็เริ่มเข้าใจมันในทันที
Oran มั่นใจว่ามาถูกทางเมื่อผู้ทดสอบสามารถใช้ Start Menu สั่งงานได้จนเสร็จสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการสอนการใช้งานให้ก่อน
ภาพสเก็ตช์คอนเซปต์ของ Start Menu จากสไลด์ของ Oran
อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบครั้งนี้คือ Task bar ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่บน Windows 3.1 เนื่องจากผู้ใช้มักจำไม่ได้ว่าเปิดโปรแกรมอะไรขึ้นมาบ้างแล้วและเปิดไปแล้วกี่โปรแกรม เป็นไปได้ที่ผู้ใช้งานจะเปิด Solitaire ขึ้นมาเล่นใหม่อีกหน้าต่างหลังจากที่เพิ่งจะย่อหน้าต่างเดิมลงเมื่อเจ้านายเดินผ่าน
แม้ว่า Windows 3.1 จะมี Task Manager เพื่อแสดงผลโปรแกรมที่กำลังรันอยู่แต่ผู้ใช้ทั่วไปก็มักจะไม่รู้ว่าต้องเข้าใช้งานผ่านทางไหน จนอาจส่งผลถึงให้คอมพิวเตอร์ทำงานช้าลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีโปรแกรมที่เปิดค้างไว้แล้วไม่มีการปิด จนกว่าผู้ใช้จะรีสตาร์ทนั่นเองเครื่องถึงจะกลับมาเป็นปกติ
"พวกเขาไม่มีทางรู้เลย" Oran กล่าว
Oran แก้ไขปัญหานี้ด้วยไอเดียพื้นๆ อย่างการวางแถบที่จะแสดงผลว่ารันโปรแกรมอะไรอยู่บ้าง ต้นแบบแรกๆ ของแนวคิดนี้กลายมาเป็นชุดของแท็บที่วางตำแหน่งไว้ด้านบนของหน้าจอคล้ายกับแท็บที่ปรากฏในเบราว์เซอร์อย่าง Chrome หรือ Safari เป็นอย่างมาก
แต่แท็บดังกล่าวกลับใช้เนื้อที่ของหน้าจอมอนิเตอร์มากเกินไป โดยเฉพาะกับจอมอนิเตอร์สมัยนั้นที่ส่วนใหญ่จะเล็กและมีความละเอียดเพียง 640 x 480 เท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้แนวคิดนี้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ Oran จึงตัดสินใจทำแท็บให้เล็กลงและเปลี่ยนให้กลายเป็นปุ่มแทน
เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน Start Menu และ Task bar จึงถูกผนวกเข้าด้วยกันแต่ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดไมโครซอฟท์ย้าย Task bar ไปไว้ข้างล่างหน้าจอแทน (Oran กล่าวว่ามีข่าวลือเรื่องไมโครซอฟท์เกรงว่าจะออกมาคล้ายกับ Mac OS เกินไปจนอาจเกิดการฟ้องร้อง แต่ตัว Oran เองก็ไม่ได้สืบดูว่าจริงหรือไม่) และกลายมาเป็นค่าตั้งต้นของ Start Menu เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
วิวัฒนาการของการออกแบบ Task bar บน Windows 95 จากสไลด์ของ Oran
Oran ออกจากไมโครซอฟท์ในปี 1994 ก่อนหน้า Windows 95 จะวางจำหน่ายเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันเขาทำงานด้านสาธารณสุขโดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีในการสร้างกลยุทธ์เพื่อการช่วยเหลือและป้องกันการฆ่าตัวตาย
ในตอนนี้เขาแค่เฝ้ามองไมโครซอฟท์จากภายนอก แต่ในฐานะผู้ได้ออกแบบ Start Menu การได้เห็น Windows 10 ใช้สิ่งที่เขาสร้างไว้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปถึง 20 ปีแล้ว ให้ความรู้สึกที่ดีและน่าผิดหวังเล็กๆ ในเวลาเดียวกัน
แม้ว่านี่จะหมายถึงการมีผู้คนนับล้านใช้งานสิ่งประดิษฐ์ของเขาในทุกๆ วัน แต่ก็หมายความว่าภายในเวลา 22 ปีให้หลังจากที่เขาได้คิด Start Menu ขึ้นมานั้น ไม่มีการสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมาแทนที่ได้เลย
"เมื่อได้ลองมองย้อนกลับไป, ผมว่าผมอยากได้ค่าลิขสิทธิ์ล่ะ" Oran กล่าวติดตลก
เขายังบอกอีกว่ามันเป็นการดีแล้วที่มีความพยายามทดลองแนวคิดใหม่ๆ ใน Windows 8 นอกเหนือจากแนวคิด Start Menu เดิมที่มีอายุถึงสองทศวรรษ
Oran ยังหนุ่มมากเมื่อตอนที่เขาทำงานให้ไมโครซอฟท์ แต่สิ่งที่เขาสร้างนั้นกลับส่งผลยาวนาน แน่นอนว่าประสบการณ์ของ Oran จะเป็นบทเรียนอย่างดีให้กับผู้สร้างและนักประดิษฐ์รุ่นหลัง
"สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ อาจสร้างผลกระทบได้อย่างน่าประหลาด" Oran กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ Start Menu ขณะที่ Windows 10 เปิดตัวได้ไม่นาน
ที่มา - Business Insider via Windows Central