Jitta (จิตตะ) แพลตฟอร์มการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

by workplace
5 April 2016 - 11:49

Jitta (อ่านว่า “จิตตะ”) เป็นสตาร์ตอัพไทยที่กำลังมาแรงมากอีกราย Jitta เป็นแพลตฟอร์มทางด้านการเงิน เน้นการวิเคราะห์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) โดยการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก มีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในแบบผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกหุ้นได้ง่ายและเร็วขึ้น ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดความเสี่ยง และเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น เรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์และโดดเด่น และถือเป็นสตาร์ตอัพกลุ่ม FinTech ที่น่าสนใจมากในขณะนี้

Jitta มองว่านักลงทุนทั่วโลกพูดภาษาเดียวกันคือ “ภาษาการเงินและการลงทุน” ดังนั้น Jitta จึงอยากจะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบรับนักลงทุนทั่วโลก ครอบคลุมหุ้นของทุกตลาด Jitta วางเป้าหมายสูงสุดคือการเป็น Standardized Platform ของการลงทุนเน้นคุณค่าในที่สุด

ที่มาที่ไปของ Jitta

Jitta ก่อตั้งโดยคุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ (เผ่า) และ คุณศิระ สัจจินานนท์ (ฮันท์) ซึ่งทั้งคู่เคยร่วมงานบริษัทพัฒนาเว็บไซต์กันมาก่อน มีความฝันอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยคนได้ทั่วโลก จึงช่วยกันคิดหาไอเดียมาโดยตลอด จนภายหลังเมื่อทั้งคู่หันมาสนใจเรื่องการลงทุน ซึ่งตรงกับความสนใจและทักษะของคุณตราวุทธิ์ที่ชื่นชอบและลงทุนตามแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยเฉพาะในแบบของ Warren Buffet มายาวนาน ก็พบว่าการลงทุนแบบนี้ต้องใช้เวลา ต้องศึกษา และใช้ทักษะในการวิเคราะห์เป็นอย่างมาก ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเริ่มต้นลงทุนได้

ทั้งคู่จึงได้ค้นพบปัญหา (pain point) ที่คนส่วนใหญ่มีในการลงทุน และมองเห็นว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สอดคล้องกับแนวทางของสตาร์ตอัพ จึงได้ร่วมกันพัฒนา Jitta ขึ้น โดยเน้นการนำข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 10 ปีมาวิเคราะห์ คิดฟีเจอร์ต่างๆ ขึ้นมาในช่วงปี 2013 ซึ่งทั้งคู่ได้คิดและพัฒนากันที่ซิลิคอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มทดลองกับชาวต่างชาติที่นั่น เบื้องต้นมีผลตอบรับไม่ค่อยดีนัก หลายคนบอกว่าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เพราะมีฟีเจอร์เยอะมากเกินไปที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการ ไม่ต่างจากเครื่องมือที่พวกเขาใช้อยู่แล้ว

เมื่อคุยกับผู้ใช้งานกลุ่มแรกๆ มากขึ้น ทั้งคู่ก็เริ่มปรับปรุง โดยเน้นว่าเทคโนโลยีจะต้องตอบโจทย์ที่สำคัญของการลงทุนให้ได้ก่อนคือ จะลงทุนในบริษัทอะไร และเมื่อไหร่ควรลงทุน ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Warren Buffett ที่ว่า “ลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม” (Buy a wonderful company at a fair price) Jitta จึงพัฒนา 2 ฟีเจอร์หลัก หรือ MVP (Minimum Viable Product) คือการให้คะแนน Jitta Score เพื่อบ่งบอกถึงบริษัทที่ดีเยี่ยม (0-10) และเส้น Jitta Line เพื่อชี้วัดมูลค่าที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท

ผลตอบรับจากผู้ใช้งานดีเยี่ยม ทุกคนชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกของโลกการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่มีค่ามาตรฐานกลางที่ช่วยให้นักลงทุนลดความเสี่ยงในการขาดทุนด้วยคุณภาพและมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ ผู้ใช้งานจึงบอกต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับให้ Insight แนะนำให้เราพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ ที่ต้องการเพิ่มขึ้นอีก ซึ่ง Jitta เองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันโดยใช้หลักการพัฒนาในรูปแบบของ Lean Startup โดยการสร้าง (Build) วัดผล (Measure) และเรียนรู้ (Learn) จนได้ผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าแก่ผู้ใช้งานอย่างมากที่สุด

Jitta เริ่มขยายตัวมากขึ้นจากหุ้นของสหรัฐอเมริกา มาถึงไทย และเปิดตลาดหุ้นของสิงคโปร์และเวียดนามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และในปี 2016 นี้จะเปิดฮ่องกงและญี่ปุ่น และทยอยเปิดให้ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งเราได้คุณพรทิพย์ กองชุน (อ้อ) นักบุกเบิกที่เชี่ยวชาญการทำตลาดและพัฒนาธุรกิจจาก Google ที่เห็นศักยภาพและโอกาสที่จะเติบโตของ Jitta มาร่วมงานอีกคน ทำให้ Jitta มีทีมผู้บริหารครบในทุกด้าน มีแผนการพัฒนาและขยายอย่างชัดเจน พร้อมที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

(สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Jitta เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jitta.com/about)

สถาปัตยกรรมทางเทคนิค

คุณศิระ เป็นนักพัฒนาเว็บที่มีชื่อเสียงในวงการมานาน เล่าถึงแง่มุมทางเทคนิคของ Jitta ว่าเลือกทำเป็น “เว็บแอพ” ล้วนๆ ด้วยเหตุผลว่าต้องการสร้างแพลตฟอร์มเพียงอันเดียวที่ใช้งานได้จากอุปกรณ์ทุกแบบ เครื่องมือที่เลือกใช้งานมีดังนี้

  • ภาษาโปรแกรม: เลือก Node.js เพราะอยากได้ภาษาเดียวที่เขียนได้ทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน ปกติแล้วการเขียนเว็บจะนิยม PHP แต่ธรรมชาติของหุ้นต้องอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ การเลือก PHP จึงไม่ตอบโจทย์มากนัก ตอนที่เริ่มทำ Jitta ถือว่า Node.js ยังใหม่มาก แต่เชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพและโอกาสของ JavaScript บนเบราว์เซอร์จะดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เลยเลือกทุ่มกับ JavaScript เพียงอย่างเดียว
  • ระบบเซิร์ฟเวอร์: เลือกรันเซิร์ฟเวอร์บน Google Cloud Platform เพราะมั่นใจว่าเป็นคลาวด์ที่ดีที่สุด ระบบปฏิบัติการใช้ Core OS เพื่อลดภาระการดูแลระบบปฏิบัติการให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังรันงานบน Docker เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมจริง (production environment) ให้ทีมพัฒนาเขียนโปรแกรมบนสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยการันตีว่าโค้ดจะถูกพัฒนาบนสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันกับ production ได้ทั้งหมด

คุณศิระ เล่าว่าปกติแล้ว สตาร์ตอัพที่เติบโตอย่างรวดเร็วมักมีปัญหาการรับมือกับ scalability หรือ “การขยายใหญ่” แต่ความท้าทายของ Jitta ต่างออกไป เพราะเมื่อเป็นสตาร์ตอัพด้านการเงิน ข้อมูลการเงินต้องแม่นยำ กลายเป็นปัญหาเชิงคุณภาพแทนเชิงปริมาณ ทีมงานจำเป็นต้องย่อยและประมวลผลงบการเงินให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อค้นหาความหมายทางการเงินว่าบริษัทนี้ดีหรือไม่ ภารกิจสำคัญคือต้องคำนวณตัวเลข 85 ล้านตัวจากตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นประจำทุกวัน เพื่อหาความสัมพันธ์เหล่านี้

Jitta ซื้อข้อมูลจาก Thomson Reuters แต่ก็พบว่างบการเงินของบริษัทต่างๆ มีความไม่สม่ำเสมอ มีจุดผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ จึงต้องพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อตรวจสอบข้อมูลของตัวเอง นอกจากนี้ยังพบปัญหาว่างบการเงินของบริษัทประกาศออกมาไม่พร้อมกัน ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอให้ได้

กระบวนการทำงานของ Jitta

ปัจจุบัน Jitta มีทีมงานด้านเทคนิคทั้งหมด 8 คน แนวทางของบริษัทคือไม่อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ทำหน้าที่เพียงแค่เขียนโค้ด แต่ต้องการให้ทีมวิศวกรหนึ่งคนเข้าใจประสบการณ์ทั้งหมดของผู้ใช้ (end-to-end experience) เข้าใจ workflow การพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบ

กระบวนการพัฒนาใช้แนวทาง Continuous Integration และ Continuous Delivery โดยวิศวกรแต่ละคนต้องรับผิดชอบการ commit โค้ดของตัวเอง ทุก commit ต้องรันการทดสอบแบบ full test เสมอ ทางทีมยังพัฒนาเครื่องมือช่วย build และ deploy ให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างอัตโนมัติมากขึ้น

การสื่อสารภายในทีม ใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่าง GitHub จัดการโค้ด Slack สื่อสารภายในองค์กร Asana จัดการงานต่างๆ และ Newrelic ตรวจสอบปัญหาของแอพ

สำหรับคนที่สนใจรายละเอียดเชิงลึกอ่านได้จากบล็อก Jitta Engineering

วัฒนธรรมองค์กร

Jitta มีสำนักงานอยู่ที่บ้านกลางเมือง สี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ใช้นโยบายเข้างานตามสบาย (flexible time) นับเวลาการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ขอให้ทำงานตามกำหนดที่คุยกันออนไลน์ผ่าน Asana และไม่จำกัดเรื่องวันลา

เนื่องจาก Jitta ยังเป็นองค์กรขนาดเล็ก จึงมีวัฒนธรรมองค์กรแบนราบ (flat organization) บริษัทใช้ระบบ “prefect” หรือ “ผู้ดูแล” ผลัดเปลี่ยนกันเป็นคนรับผิดชอบปัญหาทุกอย่างของระบบทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจทุกแง่มุมของบริษัท ซึ่ง prefect จะเป็นคนประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวัน รีวิวปัญหาที่พบเจอ กระจายงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เสร็จสิ้น ในช่วงที่ตนต้องรับผิดชอบ

บริษัทมีเลี้ยงอาหารเที่ยงฟรีทุกวัน และมีรับประทานอาหารร่วมกันทุกวันศุกร์ เพื่อเจอกันแบบพร้อมหน้า นอกจากนี้บริษัทยังเริ่มกิจกรรม Jitta@ พาทีมงานไปนั่งทำงานที่ต่างประเทศแบบยกบริษัท เพื่อได้สัมผัสและเรียนรู้จากผู้ใช้งานในประเทศนั้น เพิ่มพูนความรู้ และมีประสบการณ์ในต่างประเทศมากขึ้น

ปี 2015 เรามี Jitta@Silicon Valley พาทีมงานทั้งหมดไปพักอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม โดยมีการสนับสนุนให้ทีมงานเข้าร่วมงานสัมมนาทางเทคนิคที่ตัวเองสนใจอย่างน้อย 1 งาน แล้วกลับมาเล่าให้ทีมฟัง เชิญผู้ใช้งาน บริษัทพันธมิตร และคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มาแบ่งปันความรู้และสังสรรค์ร่วมกัน โดยเราจะเวียนไปยังประเทศอื่น ให้สอดคล้องกับแผนการขยายตลาดของ Jitta

เสียงสะท้อนจากพนักงาน

ชื่อ: กรกช ธนูเดช
ตำแหน่ง: UX & UI Designer
หน้าที่: ออกแบบ ค้นคว้า และทดสอบส่วนติดต่อผู้ใช้ทั้งหมดของผลิตภัณฑ์

  • ประทับใจทีมงานของ Jitta รู้สึกว่ามาอยู่ที่นี่ได้ทำอะไรใหม่ๆ และเสนอไอเดียใหม่ๆ ได้ตลอด เพื่อนร่วมทีมทุกคนพร้อมจะรับฟังไอเดียของเรา และพัฒนาต่อยอดกันเสมอ การทำงานแบบ flexible time บริหารเวลาของตัวเองได้ ซึ่งทำให้เราจัดสรรเวลาเพื่อที่จะทำงานเต็มที่ตามเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
  • จุดเด่นของ Jitta คือเป็นองค์กรที่ design-driven ทุกอย่างเริ่มต้นที่ดีไซน์​ ซึ่งทำให้เราสามารถเน้นประสบการณ์ผู้ใช้เป็นแกนหลักในการพัฒนาทุกอย่างจึงเป็นเหตุเป็นผล ทุกคนสามารถถกเถียงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ ดีไซเนอร์จึงมีหน้าที่ต้องสร้างต้นแบบ (prototype) ขึ้นมาเพื่อถกเถียง หามุมมองที่ถูกก่อน แล้วค่อยให้วิศวกรพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ซึ่งทำให้เราเข้าใจทุกกระบวนการ และ มีส่วนร่วมกับการพัฒนาทุกขั้นตอน
  • Jitta ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ผู้ใช้จริงๆ ในทุกฟีเจอร์เราจะมีการเปิดให้สมาชิกกลุ่ม Beta เข้ามาใช้ก่อนเพื่อฟังความคิดเห็น ซึ่งส่วนนี้ทำให้เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรง และตอบปัญหาของผู้ใช้งานได้จริงๆ กระบวนการนี้ทำให้เราได้พัฒนาความสามารถให้ดีขึ้น คมขึ้น ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง

ชื่อ: ยุทธะวัฒน์ มโนภานนท์
ตำแหน่ง: Software Engineer
หน้าที่: ดูแลระบบประมวลผลหลัก Jitta Intel ที่ช่วยประมวลผล วิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินต่างๆ เช่น Jitta Score และ Jitta Line

  • ที่สนุกคือตัวงานของ Jitta มีความท้าทายให้ทำในสิ่งใหม่ๆ เสมอ ไม่ได้เจออะไรเดิมๆ จนซ้ำซาก ตัวเนื้องานมีความยากในตัวมันเองเพิ่มขึ้นเสมอ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ในอีกทางก็ทำงานสบายๆ เลิกงานกี่โมงก็ได้ ตื่นสายได้ รถไม่ติด
  • การไปสหรัฐอเมริกา ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของต่างประเทศ พบว่าทักษะไม่ได้ต่างกันมาก แต่การจัดการต่างกัน เขามีระบบมากกว่า ทำให้เขาไปเร็วกว่าเรา และทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนา
  • ที่ Jitta เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างฉลาด เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาของทุกคนที่ควรจะใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ใช้กับอะไรที่ไม่ค่อยมี Impact

ชื่อ: ญาณิน ท้วมสุข
ตำแหน่ง: Frontend Engineer
หน้าที่: ดูแลส่วนที่ติดต่อผู้ใช้ทั้งหมดของระบบ (ในทีมเราพูดกันเล่นๆว่าทุกส่วนที่คลิกได้)

  • ประทับใจ Jitta ว่าเป็นองค์กรที่มีภารกิจชัดเจน เลือกใช้เทคโนโลยีของใหม่ล่าสุดเทียบเท่าซิลิคอนวัลเลย์ จากประสบการณ์พบว่าองค์กรไทยไม่ค่อยชอบใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และมักยึดติดกับของเดิม พอย้ายมาอยู่ Jitta เลยชอบตรงนี้
  • การไปสหรัฐอเมริกา ช่วยให้เรียนรู้ว่าระดับความสามารถของคนไทยไม่ได้ต่างจากฝรั่งมากนัก เรานำผลงานของเราให้เขาดู เขาก็ตื่นเต้นไม่คิดว่าจะเห็นผลงานแบบนี้จากคนไทย พอกลับมาก็เลยมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ชื่อ: สรัลยศ สุวรรณโชติ
ตำแหน่ง: Software Engineer
หน้าที่: ดูแลฐานข้อมูลหุ้นทั้งหมดในระบบ ตั้งแต่การเก็บข้อมูล คุณภาพข้อมูล และพัฒนาฐานข้อมูล

  • Jitta มีวิสัยทัศน์ว่าต้องการไปไกลถึงระดับโลก และต้องการ disrupt ในธุรกิจการเงินการลงทุน ถือว่ายิ่งใหญ่มาก หาบริษัทแบบนี้ได้ยากมาก
  • การเป็นสตาร์ตอัพขนาดเล็ก สามารถทดลองเฟรมเวิร์คใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งทำได้ยากในบริษัทขนาดใหญ่
  • การไปซิลิคอนวัลเลย์ ช่วยให้เห็นโลกมากขึ้น เห็นวัฒนธรรมกล้าพูดกล้าแสดงออกของฝรั่ง ตรงนี้ต่างจากเมืองไทย และพอได้เห็นบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ก็ช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่าอนาคตเราจะโตไปในทางไหน

ชื่อ: ชลธี จำรัสศรี
ตำแหน่ง: Software Engineer
หน้าที่: ดูแลด้านฟีเจอร์ เช่น Portfolio และ ระบบส่งเสริมพันธมิตร เช่น API สำหรับองค์กรภายนอก

  • ประทับใจผู้บริหารองค์กร สามารถคุยได้ทุกเรื่อง ให้คำปรึกษาได้ตลอด ติดต่อได้ตลอดเวลาไม่มีวันหยุด พอมาคุยเรื่องงานเลยช่วยให้คุยกันราบรื่นมากขึ้น ในองค์กรนี้ ทุกคนคุยด้วยเหตุและผล มีข้อโต้แย้งกันได้ จนได้ข้อสรุปด้วยเหตุและผลเสมอ
  • เพิ่งเคยไปเมืองนอกครั้งแรกก็คราวนี้เลย พบว่าบริษัทไอทีต่างประเทศมีออฟฟิศหรูหรา แต่คนที่นั่นกลับไม่ได้ยึดติดกับออฟฟิศ เน้นความจริงจังกับงานเป็นหลักสำคัญ เป็นวัฒนธรรมที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง

เสียงจากทีมงานใหม่

ชื่อ: ณัฐพล พัฒนาวิจิตร
ตำแหน่ง: Computer Scientist
หน้าที่: ดูแลการวิจัย และพัฒนา ทฤษฎีคอมพิวเตอร์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์

  • เมื่อ 4 เดือนก่อนพี่ฮันท์ชวนเข้ามาร่วมทีม Jitta ด้วยกัน เราก็ลังเลเล็กน้อย ไม่นานก็ตอบตกลงมาทำด้วยทันทีเพราะเหตุผลใหญ่ๆ สองข้อ

    • ข้อแรกคือ เคยได้ยินคำพูดหนึ่งของ Sheryl Sandberg (COO ของ Facebook) ที่บอกว่า “If you're offered a seat on a rocket ship, don't ask what seat! Just get on.” แล้วตัวแพลตฟอร์มของ Jitta เองนั้นมีศักยภาพสูงมากที่จะโตไปไกล เป็นสตาร์ตอัพชั้นนำของเมืองไทย และระดับโลกได้ เลยอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันทำให้ฝันเป็นจริง
    • ส่วนเหตุผลข้อที่สองคือ การเข้ามาร่วมงานกับ Jitta ทำให้ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ มากประสบการณ์ อย่างพี่เผ่าก็เป็นนักลงทุนกว่าสิบปี พี่อ้อก็มีประสบการณ์มากกว่าสิบปีด้านการตลาด พี่ฮันท์ก็ประสบการณ์เกินกว่าสิบห้าปีด้านเทคโนโลยี เราเข้ามาทำตรงนี้ก็ได้ประสบการณ์เต็มที่ในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์
  • เข้ามาทำงานได้ซักพักก็ซึมซับได้ว่าการทำสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันไม่ใช่แค่ทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจบ ต้องมีการปรับปรุง พัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ต้องทดลอง แก้ไขซ้ำๆ เยอะมาก กว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ
  • ด้วยความที่ Jitta ไม่ใช่ทีมขนาดใหญ่ เราก็จะได้ทำงานที่หลากหลายขึ้น ไม่จำเจกับงานเดิมๆ รวมไปถึงว่าเราก็จะได้เป็นคนรับผิดชอบฟีเจอร์หลักๆ หลายตัวของผลิตภัณฑ์ด้วย
  • จุดเด่นของ Jitta น่าจะเป็นทีมที่ทำงานด้วยกันได้อย่างดี และอยู่ด้วยกันแบบไม่มีโครงสร้างองค์กร ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและพัฒนาตัว Jitta อย่างผมถึงแม้พึ่งจะเข้ามาใหม่ แต่ก็สามารถคุยกับพี่เผ่าที่เป็น CEO ตรงๆ ได้ว่าผมคิดยังไง หรือมีข้อเสนอปรับปรุงตัว Jitta ยังไง ทำให้การทำงานของทุกคนเป็นการทำเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราดีขึ้น
  • อีกจุดนึงที่ผมชอบใน Jitta คือวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ไม่ได้มองแค่ลูกค้าในไทย แต่ต้องการขยายไปทุกประเทศบนโลก ถือว่าเป็นเป้าหมายใหญ่มากๆ สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย
  • เรื่องที่น่าเสียดายก็คงเป็นเข้ามาร่วม Jitta หลังจากทีมกลับมาจาก San Francisco พอดี เลยอดไป 555+

ชื่อ: หะริน แสงหิรัญ
ตำแหน่ง: Software Engineer
หน้าที่: วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต

  • ตัดสินใจมาทำงานที่ Jitta เพราะว่าสองสาเหตุหลักๆ หนึ่งคือส่วนตัวมีความสนใจเรื่องของการลงทุนอยู่แล้ว และอีกอย่างคือรู้สึกว่าทีมของจิตตะมีประสบการณ์และความสามารถที่น่าจะทำให้ผมสามารถเรียนรู้อะไรต่างๆได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นทีมที่เล็ก หมายความเราว่าเราจะได้พูดคุยและถกเถียงปัญหากับผู้มีประสบการณ์โดยตรง
  • การที่ได้มาทำงานกับ Jitta ก็ทำให้ได้เรียนรู้การพัฒนาสินค้าขึ้นมาที่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังได้เห็นการทำงานของพี่ๆ ในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องเทคโนโลยี เป็นข้อดีของการที่ได้ทำงานในบริษัทที่กำลังเติบโต
  • จุดเด่นของ Jitta สำหรับผมคือ การที่เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพไทยไม่กี่แห่งที่ต้องการเป็นบริษัทข้ามชาติตั้งแต่ต้นไม่ใช่เพียงแค่ทำในเมืองไทยอย่างเดียว

สมัครงานกับ Jitta

เป้าหมายของ Jitta คือการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มทางการเงินและการลงทุน สร้างค่ามาตรฐานที่ผู้ใช้ทั่วโลกยอมรับ ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ทุกคนสามารถเข้าถึง และลงทุนได้อย่างมั่นใจ

เรามุ่งมั่นและตั้งใจเต็มที่ ที่จะทำให้ Jitta ไปถึงระดับโลก การสร้างให้เป็นแพลตฟอร์มยังมีสิ่งท้าทายอีกมาก หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีพลัง ชอบสร้าง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างคุณค่าให้กับคนทั่วโลก ส่งเรื่องของคุณและเหตุผลที่อยากร่วมงานกับเรามาที่ hr@jitta.com

Blognone Jobs Premium