นักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์แห่ง Berkeley ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เรียนรู้ภาพถ่ายจำนวนมาก จนสามารถระบายสีภาพถ่ายขาวดำให้กลับเป็นภาพสีได้ราวกับฝีมือแต่งภาพของมนุษย์
Richard Zhang คือชื่อของผู้นำทีมวิจัยนี้ ผลงานของเขาคือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเรียนรู้ได้โดยอาศัยโครงข่ายประสาทเทียมแบบ convolutional ซึ่งทำงานเลียนแบบระบบพื้นฐานการรับรู้ภาพของสมองคนเราจนสามารถจดจำรูปแบบของวัตถุในภาพและจัดหมวดหมู่วัตถุเหล่านั้น และด้วยการที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นในภาพคืออะไร ทำให้มันคาดคะเนได้จากประสบการณ์ที่มันเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นควรมีสีสันไปในโทนไหน
Zhang และทีมเผยแพร่งานพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้ด้วยชื่อ "Colorful Image Colorization" พวกเขาทำการทดลองโดยนำภาพถ่ายสีของจริง ไปจับคู่เทียบกับภาพที่ถูกเปลี่ยนเป็นขาวดำแล้วให้ปัญญาประดิษฐ์เติมสีกลับเข้าไปให้ แล้วให้ผู้ร่วมทดสอบทายว่าภาพไหนคือภาพสีต้นฉบับของจริง ผลที่ได้คือมีคน 20% ทายผิด ด้วยตัวเลขระดับนี้ถือว่าผลงานของ Zhang และทีมนั้นทำการระบายสีให้ภาพได้ดีกว่างานวิจัยอื่นที่เคยมีมา
ภาพที่เห็นประกอบข่าวนี้ คือผลงานของปัญญาประดิษฐ์ที่ว่ามาทั้งหมด ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูภาพอื่นๆ อีกมากได้จากเว็บไซต์เผยแพร่ผลงาน หรือศึกษาเอกสารงานวิจัย ส่วนใครที่อยากได้โค้ดไปทดสอบรันก็เข้าไปดูได้ใน GitHub
ที่มา - TechCrunch, PetaPixel