หลายคนอาจจะทราบว่าปัญหาหนึ่งที่พบกันทั่วโลกคือเรื่องของการแสดงความเห็นทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในหลายประเทศทำได้อย่างเสรี แต่ในหลายๆ ประเทศ (รวมถึงบางประเทศแถบนี้) ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีการควบคุมและตรวจตรา (surveillance) จากรัฐ คำถามคือ การควบคุมเหล่านี้มีผลเช่นไรในทางปฏิบัติ? งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเวย์นสเตต สหรัฐอเมริกา เผยว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเลือกที่จะไม่แสดงความเห็นออกมา หากรัฐบาลมีกลไกในการควบคุมหรือตรวจตราอินเทอร์เน็ต
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journalism & Mass Communication Quarterly โดยใช้กรอบทฤษฎี Spiral of Silence ที่ระบุว่า มนุษย์แต่ละคนจะตรวจสอบสภาวะแวดล้อมของตนเองว่าควรจะแสดงความเห็นหรือไม่อยู่ตลอดเวลา และในหลายครั้งหากเป็นความเห็นส่วนน้อย ก็จะเลือกไม่แสดงความเห็น ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ทุกความเห็นย่อมมีคุณค่า และใช้เหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาหลังกรณี Edward Snowden เปิดเอกสารลับในปี 2013 เป็นกรณีศึกษา
ผลสรุปของงานวิจัยชี้ว่า หากรัฐบาลมีกลไกในการตรวจสอบและควบคุมการแสดงความเห็นบนอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะเลือกไม่แสดงความเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ความเห็นของตัวเองเป็นส่วนน้อย (minority) ของสังคมทั้งหมด เนื่องจากความหวาดกลัวว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง (เช่น การบริการจากหน่วยงานรัฐ) และทางสังคม (เช่น ความแปลกแยก) ซึ่งกลายเป็นว่าจะทำให้อินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางความเห็นอย่างที่ควรจะเป็น
Elizabeth Stoycheff ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวย์นสเตต ผู้ทำวิจัยหัวข้อดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Washing Post โดยระบุว่างานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนน้อยของสังคมนั้นไม่มีสิทธิในการแสดงความเห็น และต้องเซนเซอร์ตัวเอง (self-censorship) เพื่อไม่ต้องการความแปลกแยกจากสังคม และเธอยังระบุเพิ่มเติมว่า คนที่บอกว่า "ไม่มีอะไรจะต้องปิดบัง" จากการควบคุมอินเตอร์เน็ตของรัฐ คือคนที่ให้การสนับสนุนนโยบายที่จะควบคุมอินเทอร์เน็ตบนฐานของความมั่นคง และคนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะ "ไม่แสดงความเห็น" ของตนเองให้กับสาธารณะ เมื่อความเห็นของตนเองในบางประเด็น ตกเป็นความเห็นส่วนน้อยในสังคม
ใครสนใจ แนะนำให้อ่านงานวิจัยจากที่มาครับ (อาจต้องเข้าผ่านสถานศึกษาที่มีสมาชิกกับวารสารดังกล่าว)
ที่มา - งานวิจัย, The Washington Post