คณะนักวิจัยเผย การใช้ Emoji อาจทำให้การสื่อข้อมูลและความรู้สึกผิดพลาด

by nrad6949
11 April 2016 - 12:47

ในการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เรามักนิยมใช้สิ่งที่เรียกว่า emoji ซึ่งก็คือรูปใบหน้าที่สื่อถึงอารมณ์และไอคอนต่างๆ ในการแทนข้อความบางอย่าง ทว่าล่าสุดคณะนักวิจัยจาก University of Minnesota ออกมาเปิดเผยในงานวิจัยชิ้นล่าสุดว่า การใช้ emoji เหล่านี้อาจจะสื่อข้อมูลและความผิดพลาดไป

Miller หนึ่งในคณะผู้วิจัย ออกมาเขียนบล็อกลง Grouplens โดยเธอระบุว่างานวิจัยชิ้นนี้พบความน่าสนใจว่า ผู้ใช้แต่ละคนนั้นตีความหมายของ emoji แต่ละตัวแตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นแต่ละแพลตฟอร์มเองก็ยังมีชุดของ emoji ที่แสดงออกมาไม่ตรงกันด้วย ตัวอย่างเช่น emoji ที่เป็นรูปยิ้มยิงฟันนั้น บนแพลตฟอร์ม iOS นั้นมีความหมายที่ติดไปในทางลบ ขณะที่บนแพลตฟอร์มอย่าง Android/Windows Phone กลับมีความหมายในเชิงบวก

เมื่อรวมทั้งสองปัจจัยนี้เข้าด้วยกัน ทำให้ในหลายครั้งความต้องการในการสื่อสารข้อความนั้น สามารถผิดไปจากความตั้งใจได้ เพราะความรู้สึกต่อ emoji แต่ละตัวบนแต่ละแพลตฟอร์มนั้นไม่ตรงกัน โดยในงานวิจัยที่มีการสำรวจความเห็นของผู้เข้าร่วมนั้น ก็พบว่าการออกแบบ emoji ที่แตกต่างกันของแต่ละแพลตฟอร์ม ทำให้ความหมายที่ออกมาแตกต่างกันด้วย โดยโอกาสที่จะตีความผิดในแพลตฟอร์มเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่ถ้าเป็นการส่งข้ามแพลตฟอร์มมีโอกาสผิดพลาดสูงถึงร้อยละ 41 ตัวอย่างเช่นหนึ่งในผู้ที่ร่วมการวิจัยระบุว่าตนเองส่ง emoji เป็นรอยยิ้มที่ดีใจจนน้ำตาไหล (a crying excited face) ให้เพื่อนที่ใช้ iPhone แต่เพื่อนกลับเห็นเป็นหน้าเศร้าแทน

ทางทีมคณะวิจัยได้เสนอในงานวิจัยว่า ควรมีการออกแบบ emoji ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันได้ในแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งต้องสื่ออารมณ์ตรงกัน แม้ปัจจุบันการออกแบบจะอิงมาตรฐานของ Unicode Consortium แต่ในการสื่ออารมณ์เองนั้นควรจะต้องกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดปัญหาในการสื่อสารที่ผิดพลาด รวมไปถึงการใช้สีและสามารถที่จะเข้าใจเจตนาของผู้ส่งได้จริงๆ หากไม่มี emoji เทียบเคียงได้

ใครสนใจสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้จากที่มาครับ

ที่มา - งานวิจัย, Grouplens

ภาพจาก Grouplens

Blognone Jobs Premium