Yuri Milner มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ Mail.ru Group และบริษัทลงทุน DST Global ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลกจำนวนมาก (ซื้อหุ้น Facebook ตั้งแต่ปี 2009) ประกาศความร่วมมือกับ Stephen Hawking นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง และ Mark Zuckerberg แห่ง Facebook เปิดตัวโครงการวิจัยชื่อ Breakthrough Starshot มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนายานอวกาศที่มีความเร็ว 20% ของความเร็วแสง
Breakthrough Starshot จะพัฒนายานอวกาศอัตโนมัติขนาดเล็กเรียกว่า nanocraft ข้างในมีแผงวงจรขนาดเล็ก มีกล้องถ่ายภาพ ใช้วัสดุแขนงใหม่ที่มีน้ำหนักเบามากๆ (น้ำหนักวัดเป็นกรัม) และราคาถูกประมาณ iPhone หนึ่งเครื่องเมื่อผลิตในปริมาณมากๆ มันจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเรียกว่า Light Beamer หรือใช้พลังงานแสง (โฟตอน) รวมกันเป็นเลเซอร์ ขับเคลื่อนยานที่มีน้ำหนักเบาไปอย่างรวดเร็ว (เรียกว่า Light Sail หรือ Solar Sail)
โครงการจะขนยาน nanocraft จำนวนหลายพันตัวขึ้นไปบนอวกาศ แล้วปล่อยออกด้วยวิธี Light Sail ยิงเลเซอร์จากพื้นโลกเพื่อดันให้ยานเร่งความเร็วขึ้นอย่างรวดเร็ว (ดูวิดีโอประกอบครับ) ยานมีเป้าหมายเดินทางไปที่ระบบดาว Alpha Centauri ที่อยู่ห่างไป 4.37 ปีแสง ถ้าเดินทางด้วยยานอวกาศปกติจะต้องใช้เวลา 30,000 ปี แต่การเคลื่อนที่ด้วย Light Sail จะใช้เวลาประมาณ 20 ปี จากนั้นให้ยานถ่ายภาพแล้วส่งกลับมาที่โลกด้วยวิธี Light Sail ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี
โครงการนี้ต้องการช่วยสำรวจระบบสุริยะจักรวาล ด้วยการสร้างกล้องโทรทรรศน์เสมือนที่มีขนาดใหญ่รวมกันเป็นหลักกิโลเมตร และหวังว่าการไปถึง Alpha Centauri จะช่วยให้มนุษย์ทราบว่ามันสามารถอาศัยอยู่ได้จริงหรือไม่
Breakthrough Starshot ได้ Pete Worden อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัย NASA AMES มาเป็นหัวหน้าโครงการ มีบอร์ดกำกับดูแล 3 คนคือ Yuri Milner, Stephen Hawking และ Mark Zuckerberg รวมถึงมีนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังมาเป็นที่ปรึกษาอีกจำนวนมาก
Yuri Milner
ผู้บริหารและที่ปรึกษาของโครงการ (ยกเว้น Zuckerberg ที่ติดธุระไปงาน F8)
ตัวของ Milner มีความสนใจเรื่องอวกาศมานานแล้ว เขาตั้งโครงการชื่อ Breakthrough Initiatives ค้นคว้าวิจัยเรื่องอวกาศ มอบรางวัล Breakthrough Prize แก่นักวิจัยมาก่อน และปีที่แล้วเขาเพิ่งประกาศสนับสนุนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ผลักดันโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก
แนวคิดของ Breakthrough Starshot คือฉีกวิธีคิดของการสร้างยานอวกาศแบบเดิมๆ โดยเปลี่ยนมาเป็นยานที่มีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งเกิดได้จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และวัสดุศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้น (Milner เรียกว่า spacecraft on a chip) อย่างไรก็ตาม Milner ยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่ดีพอ และเขาจะลงทุน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อสานฝันนี้ให้เป็นจริง
ที่มา - Breakthrough Initiatives, Gizmodo, Ars Technica