สัมภาษณ์ ZmyHome สตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ กับแนวคิด "เจ้าของขายเอง"

by mk
17 April 2016 - 14:54

แนวคิดของสตาร์ตอัพทุกวันนี้ คือนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการแบบเดิมๆ ในอดีต ซึ่งก็แล้วแต่ความเชี่ยวชาญของผู้ก่อตั้งว่ามีพื้นเพจากธุรกิจด้านไหนมาก่อน สตาร์ตอัพรายล่าสุดที่ผมได้สัมภาษณ์เป็น สตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการนำระบบไอทีเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรา (ซึ่งเป็นวงการที่คนทำงานด้านไอทีอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกมากครับ สนุกดีครับ ได้เรียนรู้เยอะเลย)

ผู้ที่ให้ข้อมูลคือ คุณณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ ZmyHome (อ่านว่า ซีมายโฮม) หนึ่งในสตาร์ตอัพที่เข้ารอบสุดท้ายของโครงการ dtac Accelerate 2015 และเพิ่งเปิดทำการมาราวครึ่งปี (นับจากเดือนตุลาคม 2015)

คุณณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล (ที่สองจากขวา)

ZmyHome กับการแก้ปัญหาของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย

คุณณัฐพลมีประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยมานานถึง 14 ปี เล่าให้ผมฟังว่า แวดวงอสังหาริมทรัพย์ของบ้านเรายังด้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้วมาก โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เพราะในต่างประเทศ การซื้อขายบ้านจะมีระบบฐานข้อมูลกลาง เช่น ระบบ MLS ของสหรัฐอเมริกา หรือ REIN ของญี่ปุ่น ฐานข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลกลางที่ทุกคนมาใช้ได้ เชื่อถือได้ อัพเดตตลอดเวลา ในบางประเทศถึงกับมีกฎบังคับว่าทุกๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนต้องอัพเดตในฐานข้อมูลกลางเสมอ

ข้อดีของการมีระบบฐานข้อมูลกลาง ช่วยให้ราคาบ้านเป็นข้อมูลเปิดเผย เราสามารถรู้ได้ว่าที่ดินหรือบ้านในละแวกที่เราอาศัยอยู่ ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือในราคาเท่าไร เมื่อรับทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว กระบวนการซื้อหรือขายจึงรวดเร็วขึ้นมาก เพราะทุกคนรู้ราคากลาง ไม่ต้องเสียเวลาสอบถามข้อมูลหรือต่อรองกันเยอะ ค่าเฉลี่ยของกระบวนการขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศอยู่ที่ราว 1-2 เดือนหลังลงประกาศเท่านั้น ในขณะที่คนไทยต้องใช้เวลานานเกือบปี (343 วัน

นอกจากเรื่องฐานข้อมูลกลาง ยังมีประเด็นเรื่องนายหน้าหรือโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นผู้เจรจาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แทนเจ้าของ ในต่างประเทศ นายหน้าต้องมีใบอนุญาตและขึ้นทะเบียน นายหน้าชำนาญข้อมูลเฉพาะพื้นที่ของตัวเอง อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นระบบ exclusive คือบ้านหรือที่ดินจะมีนายหน้าเป็นตัวแทนได้เพียงรายเดียวเท่านั้น คุยกับนายหน้าคนเดียวจบ แต่เมืองไทยไม่มีระบบใบอนุญาต ใครๆ ก็เป็นนายหน้าได้ และเมื่อเจ้าของอยากรีบขาย ก็จะหานายหน้ามาจำนวนเยอะๆ เข้าไว้ เพื่อ (หวังว่า) เปิดช่องทางการขายให้มากที่สุด

สภาพนี้กลับเป็นปัญหาต่อผู้ซื้อ และยิ่งทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ยากขึ้นมาก

เมื่อนายหน้ารับงานมาแล้ว สิ่งที่นายหน้าหลายๆ คนทำคือระดมโพสต์ข้อมูลอสังหานั้น ลงในเว็บอสังหาริมทรัพย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นการสแปมข้อมูลแบบกลายๆ เพราะผู้ซื้ออาจเห็นห้องชุดในคอนโดแห่งหนึ่งประกาศขายถึง 50 รายการในเว็บเดียว แต่ถ้าลองโทรไปสอบถามจริงจัง ก็จะพบว่าแท้จริงแล้วอาจมีเพียงแค่ 2 ห้องเท่านั้น (นายหน้าหลายคน โพสต์ข้อมูลของห้องชุดเดียวกัน)

ในฝั่งของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นผลเสียเช่นกัน เพราะสมมติว่ามีลูกค้า 2 ราย สอบถามข้อมูลห้องชุดไปยังนายหน้าหลายๆ คน สิ่งที่นายหน้าทำคือโทรมาบอกเจ้าของว่ามีคนสนใจเยอะ ส่งผลให้เจ้าของสำคัญตัวผิด กล้าขึ้นราคาให้แพงขึ้น สุดท้ายกลายเป็นขายไม่ออกไปแทน

เมื่อข้อมูลซ้ำซ้อน แถมเมื่อขายได้แล้ว นายหน้าไม่กลับมาอัพเดตข้อมูล สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่อยากซื้อบ้านหรือคอนโดจริงๆ ต้องใช้พลังเยอะมากในการแยกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกจากข้อมูลขยะ ซึ่งตอนนี้ต้องอาศัยการโทรถามเท่านั้น ซึ่งเสียเวลามาก

ZmyHome เว็บอสังหาริมทรัพย์แบบไม่มีนายหน้า

สิ่งที่ ZmyHome พยายามแก้ปัญหาคือสร้างเว็บประกาศขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ข้อมูลเชื่อถือได้ ใช้งานได้จริง โดยเบื้องต้นจำกัดว่าต้องเป็นเจ้าของลงประกาศเองเท่านั้น ไม่เปิดให้นายหน้ามาลงเพราะป้องกันปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน และข้อมูลไม่อัพเดต (แต่ในอนาคตก็มีแผนว่าจะเปิดรับนายหน้าที่มีสัญญา exclusive กับเจ้าของมาให้ลงประกาศได้ด้วย)

จุดเด่นของ ZmyHome คือข้อมูลต้องใช้ได้จริง คุณณัฐพลบอกว่าเว็บบางแห่งประกาศว่ามีอสังหาถึง 1 ล้านรายการ (listing) แต่ของ ZmyHome ไม่ได้มองจุดนั้น ขอแค่มีสักหลักหมื่นแต่เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้จริงก็พอ (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2559 มีประมาณ 2,500 รายการ) เมื่อข้อมูลเชื่อถือได้ คนซื้อก็สะดวก ดูข้อมูลที่เดียวแล้วจบ ฝั่งคนขายก็สะดวก เพราะลงประกาศไม่กี่ครั้งก็มีโอกาสขายได้สูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ZmyHome จึงจริงจังกับเรื่องข้อมูลมาก ทุกประกาศจะมีอายุ ไม่ใช่แปะค้างไว้ตลอดไป และถ้าใกล้หมดอายุจะมีระบบแจ้งเตือนให้เจ้าของมาอัพเดต และถ้าเจ้าของไม่มาอัพเดต ก็จะมีกระบวนการให้เจ้าหน้าที่เช็คข้อมูลเป็นระยะว่าขายได้หรือยัง มีอะไรอัพเดตข้อมูลหรือไม่

เว็บไซต์ของ ZmyHome ยังพยายามอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีแผนที่แยกตามทำเล มีราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้น (ตอนนี้ยังมีเฉพาะคอนโด) และมีระบบฟิลเตอร์ที่ค่อนข้างละเอียด บอกได้ถึงระดับอายุของอาคาร ระยะห่างรถไฟฟ้า จำนวนห้องนอน ฯลฯ แนวคิดของ ZmyHome เป็นการแสดงรายการตามการค้นหา (search-based) ไม่ได้เป็นการลิสต์รายการอสังหาริมทรัพย์ตามเวลา เหมือนกับเว็บไซต์อื่นๆ บางราย

ต้นแบบคือ Zillow

คุณณัฐพล เล่าว่าเป้าหมายของ ZmyHome คือสร้างเว็บอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่แบบเดียวกับ Zillow ของสหรัฐอเมริกา โมเดลธุรกิจของ Zillow เลือกเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (marketplace) ของอสังหาริมทรัพย์ โดยหารายได้จากโฆษณา เจ้าของหรือนายหน้า (ที่มีใบอนุญาต) มาโพสต์โฆษณาเพื่อให้ประกาศของตนเด่นขึ้น ซึ่งคุณณัฐพล ประเมินว่าเป็นโมเดลที่ยั่งยืนและขยายตัวได้ดีกว่า Redfin เว็บอสังหาอีกรายของสหรัฐ ที่เลือกใช้โมเดลการทำตัวเป็นนายหน้ารายใหญ่ (super agent) ทำเงินจากค่าคอมมิชชั่น

แผนการของ ZmyHome ยังมองถึงการเข้าไปแก้โครงสร้างของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในระยะยาว โดยมีเว็บซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นศูนย์กลาง แต่จะเพิ่มบริการอื่นๆ เข้ามาในอนาคต เช่น การประเมินราคา (valuation) การเป็นตัวกลางพักการชำระเงินระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย (escrow) และการกู้บ้าน (home loan)

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า ZmyHome เป็นสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ มีจุดเด่นที่ทีมงานเชี่ยวชาญและรู้จริงเรื่องอสังหาริมทรัพย์มาก รู้ปัญหาเชิงโครงสร้างว่าคืออะไร และพยายามนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ตัวธุรกิจ ZmyHome เพิ่งเริ่มต้นมาได้สักระยะหนึ่ง ระบบบางอย่างอาจไม่ลงตัวนัก ต้องรอดูเวลาอีกสักระยะว่าสตาร์ตอัพแบบ ZmyHome จะเข้ามา disrupt วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยได้มากน้อยแค่ไหนครับ

Blognone Jobs Premium