ทางการจีนกำลังร่างแผนโร้ดแมพที่จะใช้เป็นแม่บทกำกับงานพัฒนาทั้งเทคโนโลยี, กฎหมาย และระบบพื้นฐานให้รองรับการใช้งานรถยนต์แบบไร้คนขับได้จริงภายในปี 2025 โดยงานนี้ได้รับการผลักดันจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน
Li Keqiang ศาสตราจารย์วิศวกรรมยานยนต์แห่ง Tsinghua University ซึ่งเป็นประธานร่างแผนดังกล่าวได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ว่าแผนโร้ดแมพนี้จะประกาศอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ โดยในระยะสั้นจะพัฒนารถยนต์ไร้คนขับให้ใช้งานบนทางด่วนได้สำเร็จภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ส่วนรถยนต์ไร้คนขับสำหรับเขตชุมชนซึ่งมีความซับซ้อนและพัฒนายากกว่านั้นจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ข้างต้นคือในปี 2025 ซึ่งเมื่อการร่างแผนนี้แล้วเสร็จ จะมีการเปิดฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อขอความเห็นชอบในการประกาศใช้แผนนี้ต่อไป
รายละเอียดของแผนโร้ดแมพนี้จะกำหนดรายละเอียดครอบคลุมงานหลายด้าน ทั้งการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคให้ทุกฝ่ายพัฒนางานไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ ภาษาที่รถยนต์จะใช้สื่อสารระหว่างกันและสื่อสารกับอุปกรณ์แวดล้อม ซึ่งเป็นไปได้ว่าจีนจะเลือกกำหนดมาตรฐานการสื่อสารผ่านทางเครือข่ายมือถือเนื่องจากรถยนต์ในจีนส่วนใหญ่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้กันอยู่แล้ว นอกจากนี้แผนโร้ดแมพจะกำหนดกรอบการทำงานแก่ภาครัฐ โดยจะให้แนวทางการปรับแก้กฎหมายให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สาระสำคัญส่วนหนึ่งของประเด็นทางกฎหมายคือการระบุความรับผิดของผู้ผลิตรถยนต์หากเกิดอุบัติเหตุขณะรถวิ่งในโหมดอัตโนมัติ
นโยบายการผลักดันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับของจีนนั้นแม้จะดูออกตัวช้าแต่อาจรุดหน้าเร็วกว่าสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป สาเหตุหนึ่งมาจากรูปแบบการปกครองที่เป็นหนึ่งเดียวทำให้การออกมาตรฐานหรือข้อกำหนดต่างๆ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงมีประเด็นที่แต่ละรัฐมีข้อกำหนดปลีกย่อยแตกต่างกัน และมาตรฐานทางอุตสาหกรรมที่เกิดจากภาคเอกชนหลายรายที่แข่งขันกันอย่างเต็มที่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควรให้แต่ละฝ่ายปรับแต่งระบบของตนเองให้ทำงานร่วมกันได้
ที่มาของแผนโร้ดแมพนี้ก็มาจากสภาพการเติบโตของสังคมเมืองในประเทศจีน ด้วยความที่เป็นประเทศซึ่งมีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ปัญหาผลพวงที่ตามมาทั้งเรื่องมลภาวะอากาศ, สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 200,000 ราย ตลอดจนปัญหาการจราจรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจีน ปัจจัยเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้นโยบายรถยนต์ไร้คนขับดูน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับภาครัฐ
ในขณะที่ท่าทีของสังคมจีนต่อเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับนั้นก็มีแรงเสียดทานน้อยกว่าในสหรัฐอเมริกา ดูตัวอย่างได้จากผลการสำรวจในงาน World Economic Forum 2015 คนจีนกว่า 75% ระบุว่าต้องการทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับ ในขณะที่คนสหรัฐฯ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยินดีกับเทคโนโลยีใหม่นี้
สำหรับความพร้อมของภาคเอกชนนั้น ถึงตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนบางรายอย่าง SAIC Motor และ Changan (ผู้ผลิตรถในจีนที่เป็นพันธมิตรกับ Ford Motor) ก็เดินหน้าทำระบบรถยนต์ไร้คนขับกันไปบ้างแล้ว และมีส่วนร่วมกับการร่างแผนโร้ดแมพนี้ด้วย อย่างในกรณีของ Changan เองล่าสุดก็ได้มีการทดลองระบบของรถยนต์ไร้คนขับด้วยการวิ่งเป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตรจากสำนักงานใหญ่ใน Chongqing ไปยังกรุงปักกิ่ง ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติอย่าง Volvo ก็มีข่าวเตรียมทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเร็วๆ นี้เช่นกัน ยังไม่นับเรื่องการตื่นตัวของกลุ่มบริษัทไอที อย่างที่เห็นล่าสุดคือ Baidu ที่ประกาศเตรียมให้บริการรถโดยสารไร้คนขับในปี 2018 และยังเดินหน้าค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีต่อเนื่องถึงขนาดลงทุนไปตั้งศูนย์วิจัยรถยนต์ไร้คนขับในสหรัฐอเมริกา
ด้วยสภาพการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา นักวิเคราะห์หลายแห่งต่างมองว่าจีนน่าจะเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ที่มีการใช้รถยนต์ไร้คนขับอย่างแพร่หลายจริงจังไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในยุโรป หรือหากจะประสบความสำเร็จเร็วกว่าก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด
ที่มา - VentureBeat