Microsoft ลงทุนเพื่ออนาคตกับเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลด้วย DNA

by ตะโร่งโต้ง
27 April 2016 - 17:33

Microsoft ลงทุนออกเงินสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลด้วย DNA โดยมีพันธมิตรทั้งห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยและบริษัทสตาร์ทอัพ

เริ่มที่ความร่วมมือแรกระหว่าง Microsoft กับห้องปฏิบัติการ MISL (Molecular Information Systems Lab) แห่ง University of Washington โดย Microsoft เป็นฝ่ายสนับสนุนเงินทุนให้แก่ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคการจัดเก็บข้อมูลลงใน DNA เนื้องานของ MISL นั้นเป็นการพัฒนาวิธีการแปลงข้อมูลไฟล์ดิจิทัลให้กลายเป็นข้อมูลในรูปแบบที่เข้ากับองค์ประกอบพื้นฐาน DNA ทั้ง 4 แบบ (แน่นอนว่าด้วยเทคนิคของงานวิจัยก็ย่อมแปลงข้อมูลจาก DNA กลับมาเป็นข้อมูลแบบดิจิทัลได้ด้วย)

อีกทางหนึ่ง Microsoft ก็ได้พันธมิตรเป็นสตาร์ทอัพชื่อ Twist Bioscience ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเก็บข้อมูลใน DNA ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดย Microsoft จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการจัดเก็บข้อมูลจาก Twist Bioscience ซึ่ง Microsoft จะเป็นฝ่ายกำหนดว่าต้องการให้จัดเรียงลำดับองค์ประกอบของ DNA อย่างไรและปล่อยให้ Twist Bioscience สังเคราะห์สาย DNA ตามนั้น ทาง Twist Bioscience เองจะไม่รู้ว่าข้อมูลของ Microsoft นั้นคืออะไรกันแน่ เนื่องจาก Microsoft เป็นผู้เก็บข้อมูลวิธีการเข้าและถอดรหัสไว้เองฝ่ายเดียว (เป็นไปได้ว่าอาจเป็นงานในส่วนที่ MISL ช่วยทำให้กับ Microsoft)

งานวิจัยเก็บข้อมูลใน DNA นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้ามเสียทีเดียว มีงานวิจัยมากมายที่ทดลองแปลงไฟล์ภาพหรือเสียงจากรูปแบบไฟล์ดิจิทัลให้ถูกจัดเก็บใน DNA และถอดข้อมูลแปลงกลับเป็นไฟล์ดิจิทัลอีกครั้ง แต่การลงทุนของ Microsoft ในหนนี้จะมีการทดสอบจำลองสภาพแวดล้อมเพื่อทดสอบว่า DNA สามารถเก็บข้อมูลได้นานแค่ไหนด้วย

ด้วยคุณสมบัติการจัดเก็บข้อมูลมหาศาล DNA ปริมาตรเพียง 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า 1EB (1,000,000TB) และอายุการเก็บข้อมูลที่นานหลักพันปี นั่นจึงทำให้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลใน DNA คือความหวังของวงการคอมพิวเตอร์ที่นับวันจะเติบโตและมีข้อมูลมหาศาลเพ่นพ่านล้นโลกเต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการใช้ DNA จัดเก็บข้อมูล คือต้นทุนของงานพัฒนาวิจัยและปฏิบัติการต่างๆ ในปี 2001 ต้นทุนที่ต้องใช้สำหรับการสังเคราะห์ DNA ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ 1 ชุดนั้นต้องใช้เงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปัจจุบันต้นทุนในการทำงานดังกล่าวลดลงเหลือราว 1,000 ดอลลาร์เท่านั้น หวังว่าใน 1 ทศวรรษข้างหน้า ต้นทุนจะถูกลงจนอยู่ในระดับที่ผู้คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ในที่สุด

ที่มา - WinBeta, IEEE Spectrum

Blognone Jobs Premium