ตามธรรมเนียมแล้ว Larry Page และ Sergey Brin จะเขียนจดหมายจากผู้ก่อตั้ง (Founders' Letter) เพื่อบอกกล่าววิสัยทัศน์ของกูเกิลเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะการตั้ง Alphabet ทำให้หน้าที่การเขียนจดหมายของกูเกิลกลายเป็นงานของซีอีโอ Sundar Pichai แทน
จดหมายของ Sundar ไม่ได้เล่าอะไรใหม่ แต่จุดที่น่าสนใจคือการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์อันมากมายของกูเกิล ซึ่งเราจะพอทำความเข้าใจจากจดหมายฉบับนี้ได้ว่ากูเกิลมองผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างไร
Sundar ย้อนกลับไปที่ภารกิจดั้งเดิมของกูเกิลว่า "making information and knowledge available for everyone"
ผลิตภัณฑ์ตัวหลักคือ Search แต่มันก็พัฒนาขึ้นจากการค้นเว็บในอดีตมาก กูเกิลเพิ่มข้อมูลและบริบทเข้ามาช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้ อีกทั้งยังมี Google Now ที่ช่วย "ตอบคำถาม" โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเริ่มถาม
ประเด็นเรื่อง Search ยังครอบคลุมถึงฟีเจอร์การค้นหาในบริการตัวอื่น เช่น การค้นรูปภาพใน Google Photos หรือการค้นหาเส้นทางใน Google Maps และในอนาคตกูเกิลยังมองไปถึงคำว่า Smart Assistance ที่เข้าใจว่าเราต้องการอะไรในตอนนั้นด้วย
Sundar บอกว่ากูเกิลทุ่มทรัพยากรกับเรื่อง AI มาก ทั้งเรื่องการสั่งงานด้วยเสียง การแปลภาษา การกรองสแปม การค้นหารูปภาพ ฯลฯ กูเกิลมั่นใจว่าทีมงาน AI ดีมาก และความสำเร็จของ AlphaGo ก็ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของวงการ AI ที่จะยิ่งใหญ่กว่านี้มากในอนาคต
Sundar เอ่ยถึงบริการที่เกี่ยวกับ "เนื้อหา" สองตัวคือ YouTube และ Google Play ที่มีผู้ใช้งานเกิน 1 พันล้านคนทั้งคู่ ในมุมของ YouTube จะเน้นขยายบริการเฉพาะด้าน เช่น YouTube Kids, YouTube Red, YouTube Music ให้ตรงความต้องการของผู้ใช้แต่ละกลุ่มมากขึ้น
ในส่วนของเว็บ กูเกิลมุ่งไปที่ mobile web โดยลงทุนพัฒนา Chrome Mobile ซึ่งมีผู้ใช้งานเกิน 1 พันล้านคนแล้ว, โครงการ AMP และโครงการ Progressive Web Apps (PWA) ที่ผลักดันให้เว็บแอพมีความสามารถใกล้เคียงแอพแบบเนทีฟมากขึ้น
Sundar พูดถึง "คอมพิวเตอร์" แขนงใหม่ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ (Android มีผู้ใช้ต่อเดือน 1.4 พันล้านอุปกรณ์) รวมถึง Android Auto, Android Wear, Google Cardboard แต่ในอนาคต แนวคิดของ "อุปกรณ์" (device) จะค่อยๆ หายไป เราจะไม่สนใจว่าคอมพิวเตอร์อยู่ที่ไหนหรือคืออะไร แต่เราจะเรียกใช้มันได้ตลอดเวลา
เขาบอกว่าโลกจะเปลี่ยนจาก mobile first กลายเป็น AI first
สำหรับลูกค้าตลาดองค์กร กูเกิลมีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น Google Cloud Platform (GCP), Google Apps, Chromebooks, Android และบริการแปลงภาพ แปลงเสียง แผนที่ ฯลฯ ปัจจุบันมีองค์กรใหญ่ๆ จำนวนมากใช้บริการสำคัญทั้ง Google Apps และ Google Cloud Platform
ในภาพรวมแล้ว กูเกิลจะผลักดันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้เก่งขึ้นด้วย machine learning และ AI ต่อไป
หัวข้อสุดท้ายเป็นมุมมองของกูเกิลที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงบริการของกูเกิลได้ ทั้งในแง่ราคา (บริการฟรีเพราะใช้โฆษณาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย, Android/Chromebook มีราคาถูก) ในแง่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (บริการหลายตัวทำงานออฟไลน์ได้ หรือทำงานได้แม้เน็ตช้า) ในแง่การใช้ง่าย (อาจไม่ต้องมีความรู้คอมพิวเตอร์เยอะ สั่งงานด้วยเสียงได้)
ที่มา - Google Blog