Stanford พัฒนาหุ่นยนด์ดำน้ำช่วยหาสมบัติจากซากเรือในทะเลได้

by ตะโร่งโต้ง
2 May 2016 - 12:39

Oussama Khatib ศาสตราจารย์วิทยาการคอมพิวเตอร์แห่ง Stanford นำทีมวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ OceanOne หุ่นยนต์ดำน้ำที่ใช้เพื่อการปฏิบัติงานใต้ทะเลแทนมนุษย์ และได้ใช้ OceanOne เพื่อการสำรวจและค้นหาสมบัติในซากเรือโบราณใต้น้ำลึก 100 เมตร

OceanOne เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ มี 2 แขนและ 2 มือ สำหรับการเคลื่อนไหวหยิบสิ่งต่างๆ ซึ่งมีเซ็นเซอร์วัดแรงกระทำสำหรับระบบส่งความรู้สึกย้อนกลับมายังผู้ควบคุม (haptic feedback) ทำให้ผู้ควบคุม OceanOne สามารถรู้สึกได้ว่าจับวัตถุในมือแน่นกระชับดีแล้วหรือไม่ วัตถุดังกล่าวหนักมากน้อยเพียงใด โดยส่วนประมวลผลของ OceanOne จะช่วยทำหน้าที่ควบคุมการออกแรงจับของมือด้วย เพื่อไม่ให้ออกแรงน้อยไปจนวัตถุหลุดจากมือ และไม่ออกแรงมากไปจนบีบวัตถุเสียหาย

ตัว OceanOne มีกล้องถ่ายภาพแยกมุมมองตา 2 ข้าง ส่งภาพมาสร้างมุมมองแก่ผู้ควบคุมให้เหมือนเป็นผู้ไปดำน้ำอยู่เอง ส่วนลำตัวของหุ่นมีแบตเตอรี่ให้พลังงานเลี้ยงทั้งระบบประมวลผล, ระบบสื่อสารผ่านสายสัญญาณ และระบบกำลังสำหรับการเคลื่อนที่ต่างๆ โดย ใช้ใบพัด 8 ตัว ในยามที่ผู้ควบคุมไม่ได้สั่งการให้ OceanOne เคลื่อนที่ไปในทิศทางใด มันสามารถเดินใบพัดเพื่อสร้างแรงชดเชยกับแรงจากกระแสน้ำเพื่อให้ OceanOne สามารถคงตำแหน่งอยู่ได้เอง

OceanOne สามารถทำงานใต้น้ำได้ลึก 2,000 เมตร

เพื่อแสดงศักยภาพในการปฏิบัติงานจริง Khatib และทีมได้นำ OceanOne ออกไปช่วยงานวิจัยของทีมนักโบราณคดีในการสำรวจซากเรือ La Lune เรือของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่อับปางลงเมื่อปี 1664 ซากเรือดังกล่าวจมอยู่ใต้น้ำลึก 100 เมตร ห่างชายฝั่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสออกไปราว 20 ไมล์ งานของ OceanOne คือการลงไปเก็บแจกันจาก La Lune เพื่อนำไปศึกษา

ผลการปฏิบัติงานนั้นเป็นที่น่าพอใจ OceanOne สามารถลงไปเก็บแจกันจากซากเรือที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดลงไปสัมผัสมาก่อนได้สำเร็จ มันค่อยๆ หยิบเอาแจกันใส่ตะกร้าและนำขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้โดยไม่ทำให้แจกันบุบสลายเสียหายแต่อย่างใด

ในอนาคต OceanOne จะสามารถทำประโยชน์ได้อีกมาก โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยแทนมนุษย์ ตัวอย่างเช่นปฏิบัติการในเขตที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี หรือการปฏิบัติงานบริเวณหัวขุดเจาะของแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลใหญ่

ที่มา - Stanford News

Blognone Jobs Premium