เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2559 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาหัวข้อ “Lesson Learned form Overseas Thai Startups” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน Startup Thailand 2016 ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ว่าด้วยเรื่องราวของเทคสตาร์ตอัพหลายรายที่เป็นของคนไทย แต่ไปเติบโตในต่างประเทศ (หลักๆ คือในสหรัฐอเมริกา) โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
แม้จะล่วงเลยมาหลายวัน แต่คิดว่าสาระสำคัญยังน่าจะมีประโยชน์ จึงขอสรุปมาเล่าต่อ ณ ที่นี้ครับ
จุดเริ่มต้นที่แตกต่าง
จุดเริ่มต้นของสตาร์ตอัพแต่ละรายมีที่มาต่างกัน แต่มีพื้นฐานจากความหลงใหลส่วนตัวของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก ดร.สารินทร์ เล่าว่าเริ่มจากโครงการนี้เป็นงานวิจัยสมัยเรียนที่ม.โคลัมเบีย สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ปริญญาตรี เมื่องานวิจัยน่าต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ จึงขอสิทธิบัตรจากมหาวิทยาลัยมาตั้งบริษัทเอง ใช้เวลาระดมทุน 1 ปี จากที่คิดค้นพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างเดียว ก็ต้องมาเรียนรู้รอบด้าน ทั้งการหาคน หานักลงทุน สร้างแบรนด์ ฯลฯ ซึ่งก็ท้าทายดี
ด้านคุณปรัชญา จาก AdsOptimal บอกว่าหลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ข้อเสนอให้มาทำงานประจำที่ Microsoft และ Google ตามลำดับ และเห็นโอกาสจึงออกมาทำของตัวเอง โดยเริ่มจากทำที่อเมริกาเลยเพื่ออยากเห็นสภาพตลาดใหญ่ แต่ยังนึกภาพไม่ออกเพราะเพิ่งทำงานมาไม่นาน จนได้ลองเอง เจออุปสรรคมากเท่าไร ยิ่งแก้ปัญหาได้ไว
ส่วนคุณพรทิพย์ เล่าว่า Jitta เริ่มจากไทยด้วยความหลงใหลในการลงทุนสไตล์วอร์เรน บัฟเฟตและเริ่มเข้าตีสหรัฐฯ ด้วยแนวคิดว่าถ้าเข้าที่นี่ได้ ก็เข้าที่ประเทศไหนก็ได้ แต่อุปสรรคคือ "ความเชื่อมั่น" ที่ความเป็นไทยยังไม่โดดเด่นเรื่องเทคสตาร์ตอัพนัก จึงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองกันสักพักรวมถึงได้ที่ปรึกษาฝีมือดีมาช่วย และให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องวิธีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ ว่าจะแน่น (density) ที่บางตลาดให้ผู้ใช้แข็งก่อน หรือจะเลือกฟู (size) กระจายไปยังทุกพื้นที่ให้ไว้ที่สุด (อันนี้ผมใช้คำเทียบเองนะครับ)
สภาพแวดล้อมเมืองนอกเอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า
คุณปรัชญา เล่าว่า AdsOptimal วางพื้นที่ตัวเองเป็นเหมือนบ้านให้เทคสตาร์ตอัพไทยรายอื่นมานั่งทำงานแลกเปลี่ยนกัน (Jitta ก็เคยอาศัยชายคานั้น) และระบุว่าเมืองที่เขาอยู่ (San Francisco) มีพลังงานบางอย่าง ไปไหนมาไหนก็เจอคนคุยแต่เรื่องไอเดียใหม่ๆ สามารถหยิบผลิตภัณฑ์ให้ผู้คนลองใช้และขอคำเสนอแนะได้ทันที และเสนอเคล็ดลับว่า "ถ้าอธิบายสิ่งที่เราทำในหนึ่งนาที (หรือน้อยกว่านั้น) ไม่ได้ ก็ส่งสัญญาณเฟลแล้ว"
จุดนี้คุณพรทิพย์เสริมว่า elevator pitch หรือการ "ขายของ" ให้นักลงทุนเข้าใจในช่วงเวลาแวบหนึ่งในลิฟต์ก็สำคัญมาก ควรฝึกใช้คำสำคัญ ประโยคหลักกระชับจับใจ
ดร.สารินทร์เล่าว่าวงการสตาร์ตอัพในมุมมองเขาเหมือนเป็นชุมชนที่คนในนี้สามารถพูดคุยกับแลกเปลี่ยนทรรศนะกันได้อย่างอิสระ บางทักษะก็หยิบยืมจากเพื่อนร่วมวงการ มีการคุยกัน ส่งต่อคอนเนคชั่นจนได้รับทุนสนับสนุนก็มี
ไทยทำอะไรได้บ้าง
นอกจากเรื่องภาษีที่ภาครัฐฯ กำลังปรับใช้แล้ว วิทยากรหลายท่านเห็นตรงกันว่าควรผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่เน้นเท่าเรื่องของลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็สนับสนุนการศึกษาและความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องธุรกรรมกับภาครัฐให้มากขึ้น
คุณพรทิพย์เสริมว่าเคยคิดจะไปตั้งที่สิงคโปร์ แต่กฎระเบียบที่นั่นคือต้องจ้างคนสิงคโปร์เข้ามาทำงาน บางตำแหน่งงานหาคนยากมาก และต้นทุนต่อบุคลากรค่อนข้างสูง เมืองไทยคนเก่งเยอะกว่า โอกาสหาคนมาทำงานง่ายกว่า