สัปดาห์ที่ผ่านมาเรามีงาน Startup Thailand 2016 ซึ่งถือเป็นงานด้านสตาร์ตอัพงานใหญ่งานแรก ที่ภาครัฐไทยลงมาเป็นเจ้าภาพอย่างเต็มตัว ผลการจัดงานประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในแง่ผู้เข้าชม (ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่ผมทราบมาคือ "มากกว่า 3 หมื่นคน") และในแง่ความรับรู้ของคนทั่วไป
ผมมีโอกาสไปเดินดูงานในวันสุดท้ายคือวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พบว่าคนเยอะมาก บางช่วงถึงกับเดินฝ่าเข้าไปไม่ได้เลย จากการเดินชมงานก็มีความเห็นและข้อสังเกตดังนี้
งาน Startup Thailand มีทั้งการออกบูตและเวทีสัมมนาที่เชิญวิทยากรชื่อดังจากทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับวงการสตาร์ตอัพ ซึ่ง Blognone มีบทความรายงานบรรยากาศและเนื้อหาของงานอยู่บ้าง ใครยังไม่ได้อ่านก็แนะนำครับ
เนื้อหาจากงานสัมมนา สามารถดูย้อนหลังได้จาก YouTube ThailandStartUp ส่วนของการออกบูต มีทั้งบูตจากบริษัทใหญ่ๆ เช่น โอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย ธนาคารหลายราย และบูตจากสตาร์ตอัพที่แยกเป็น 8 กลุ่มตามอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีบูตจากภาคการศึกษา และหน่วยงานด้านสตาร์ตอัพในต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลหรือความรู้ด้วย (งานวันสุดท้าย บูตต่างประเทศก็เริ่มเก็บของกลับไปบ้างแล้ว)
จุดที่น่าสนใจคือบูตหลักที่แนะนำข้อมูลเบื้องต้นว่าสตาร์ตอัพคืออะไร สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อนเลย และบูตของหน่วยงานภาครัฐบาล ที่รวมตัวกันมาให้คำปรึกษากับประชาชนภายใต้แบรนด์เดียวคือ "ภาครัฐไทย" ไม่ได้เป็นต่างคนต่างมาออกบูต มีโลโก้ของตัวเองแยกกันให้ดูเลอะๆ เทอะๆ แบบที่เราคุ้นเคย แต่กลับดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ภาพลักษณ์ว่า "หน่วยงานภาครัฐยินดีสนับสนุนผู้ประกอบการ" ซึ่งถือเป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก และอยากให้งานลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคตเดินรอยตาม
ส่วนข้อเสียของงานที่หลายคนอาจเห็นตรงกันคือ งานให้พื้นที่บูตกับภาคเอกชนรายใหญ่มากไปหน่อย (และบางบูตก็ดูเงียบเหงามาก) ส่งผลให้พื้นที่ของสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ควรเป็น "พระเอก" ของงานน้อยไปสักนิด ยิ่งมาเจอกับจำนวนคนเข้างานที่เยอะเกินคาดไปมาก ส่งผลให้ล็อคของผู้ประกอบการรายย่อยคนแน่นมาก จนแทบเดินไม่ได้เลย (งานหน้าขอทางเดินกว้างกว่านี้หน่อยนะครับ เอาแบบคนยืนฟังหน้าบูตแล้วคนอื่นๆ ยังสามารถเดินต่อไปได้)
หมดช่วงของการเล่าบรรยากาศงานและติชมการจัดงานแล้ว ผมมีประเด็นเชิงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงาน อยากเขียนถึง 2 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
คำว่า "สตาร์ตอัพ" ในความหมายของคนทำงานด้านไอที ย่อมหมายถึง tech startup หรือบริษัทด้านไอทีหน้าใหม่ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ปัจจุบันเมื่อพรมแดนของไอทีขยายตัวออกไปมาก ขอบเขตของคำว่า tech startup ก็เริ่มพร่าเลือน แบ่งแยกได้ยากขึ้นมาก
ภายใต้นโยบายเรื่องสตาร์ตอัพของรัฐบาลชุดนี้ (ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ผลักดัน) ให้คำนิยามของ "สตาร์ตอัพ" ไปไกลกว่า tech startup แต่ครอบคลุมไปถึง "ธุรกิจเกิดใหม่" ด้านอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างที่ใกล้เคียงหน่อยก็คือสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีอื่นที่ไม่ใช่ไอที เช่น สตาร์ตอัพด้านการแพทย์ หรือสตาร์ตอัพด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม
แต่ที่เป็นประเด็นขัดแย้งพอสมควรตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ก็คือ startup ยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจ SME บางส่วนด้วย (ซึ่งขอบเขตว่าแค่ไหนก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน) เราจึงเห็นหน่วยงานที่ทำผลิตภัณฑ์แนว OTOP เข้ามาแสดงผลงานด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างประเด็นไม่น้อยระหว่างทั้งสองกลุ่ม (tech startup vs อื่นๆ) ว่าตกลงแล้วงานนี้จัดเพื่อใครกันแน่
ในมุมมองของผมแล้ว กิจการแบบไหนจะเรียกว่าเป็นสตาร์ตอัพได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรสักนิดเลย
ประเด็นในภาพใหญ่กว่านั้นคือ ขอแค่เป็น ผู้ประกอบการ (entrepreneur) ที่มี นวัตกรรม (innovation) และ ความสร้างสรรค์ (creativity) ก็เพียงพอแล้ว
สภาพของภาคธุรกิจไทยในตอนนี้คือ โมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ที่ทำกันมาหลายสิบปีเริ่มไม่เวิร์คแล้ว จากปัจจัยหลายประการ ทั้งในแง่ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ในตลาดโลก ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวเองต้องเปลี่ยน แต่ไม่รู้ชัดว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร (อาการประมาณว่า "รู้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร")
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น startup, SME หรือแม้กระทั่ง SE (social enterprise) เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้แบบใหม่ มีไอเดียใหม่ เครื่องมือแบบใหม่ และกล้าลองทำธุรกิจแบบใหม่ จึงกลายเป็นตัวจุดประกายของสังคมไทยในภาพรวม
ในงานเราจึงเห็นคนหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาเดินชมงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อแม่ พาลูกมาเดินดูวิชาชีพในอนาคต, กลุ่มวัยรุ่นที่อยากเปิดหรืออยากทำสตาร์ตอัพ, กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นเก่า (อายุจะเริ่มเยอะหน่อย) หรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ของไทย หรือนักลงทุนที่มาเดินดูงานกันอย่างเงียบๆ
ผู้เข้าชมงานจำนวนไม่น้อยคงมาด้วยเหตุผลเดียวกัน คือรู้ว่าอนาคตต้องเปลี่ยนแปลง และได้ยินคำว่าสตาร์ตอัพมานาน ไหนเลยมีโอกาสที่ชาวสตาร์ตอัพมารวมตัวกัน ก็ขอมาเดินสังเกตการณ์สักหน่อย มาเดินดูว่า "พวกเอ็งกำลังทำอะไรกันอยู่วะ"
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ประเด็นของผมก็คือใครจะเป็นสตาร์ตอัพหรือ SME คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความสนใจใคร่รู้ของผู้เข้าชมงาน เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยว่ากำลังขาดแคลนโมเดลใหม่ๆ ที่ทันสมัยและแข่งขันได้ในโลก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่ามีคนที่เริ่มรู้สึกตัว และพยายามเข้ามาเรียนรู้หรือหาข้อมูลเรื่องนวัตกรรม/ความสร้างสรรค์ กันเยอะขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม ความสนใจอันล้นหลามต่อวงการสตาร์ตอัพไทยในปี 2016 ก็มีข้อควรระวังในมุมกลับเช่นกัน เพราะอะไรที่บูมจนเกินไปมันย่อมกลายเป็นฟองสบู่ และถ้าฟองสบู่แตกเมื่อไร ก็ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย (ซึ่งตอนที่ฟองสบู่ยังไม่แตก ทุกคนก็มั่นใจเต็มที่ว่าไม่ใช่เราหรอก)
เราคงพอคาดเดากันได้ว่า กระแสสตาร์ตอัพที่กำลังไต่ขึ้นสูง จะนำมาซึ่งความละโมบต่อ "เม็ดเงินลงทุน" จากนักลงทุนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น VC ทั้งในและต่างประเทศ หรือนักลงทุนรายย่อย (angel investor) การสร้างบริษัทเพื่อเคลมมูลค่าจาก valuation จะดีดตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะ "เสี่ยง" ลงทุนในฝันหวาน ผลตอบแทนแบบทวีคูณชนิดที่นักลงทุนรายอื่นต้องอิจฉา
แต่สิ่งที่จะตามมาในขั้นถัดไปคือ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง สตาร์ตอัพบางรายเริ่มมีปัญหา ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนที่คาดไว้ ความขัดแย้งจะเริ่มบังเกิด นักลงทุนอาจเริ่มไม่พอใจที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคาด และเมื่อช่วงเวลาฟองสบู่แตกเริ่มมาถึง ทุกคนก็จะ "เข็ด" กับมันและไม่อยากลงทุนในกิจการเหล่านี้เพิ่มอีกแล้ว (เพราะการแยกบริษัทที่ดีออกจากบริษัทที่ล้มเหลว เป็นเรื่องยากมากในตอนต้น) ผลกระทบในด้านกลับคือสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ ในอนาคตจะหาเงินทุนได้ยากขึ้นอีกมาก แม้ว่าจะมีฝีมือหรือคุณสมบัติที่ดีก็ตาม
เมืองไทยเราผ่านสภาวะฟองสบู่กันมาหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินปี 2540 หรือสภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนในแวดวงไอทีเอง ช่วงปี 2000 ก็เคยเกิดสภาวะฟองสบู่ดอทคอมกันมาแล้วรอบหนึ่ง เว็บไซต์หลายแห่งที่ได้รับเงินลงทุนในช่วงนั้น ก็ล้มหายตายจากกันไปมาก
ผมคิดว่าสัญญาณเตือนภัยที่ดีอันหนึ่งของวงการ tech startup คือมีคนอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็น CEO กันเยอะ แต่กลับหาคนทำงานด้านเทคนิคไม่ค่อยได้ คำพูดติดปากของผู้ประกอบการสาย tech startup ในตอนนี้คือ "หา dev ให้หน่อย" หรือไม่ก็ "มีโปรแกรมเมอร์เจ๋งๆ แนะนำให้รู้จักมั้ย"
เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้วในบทความ คำแนะนำ 5 ข้อ สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่อยากเปิดสตาร์ตอัพ ว่าคุณสมบัติข้อแรกของผู้ประกอบการที่อยากทำ tech startup คือต้องเขียนโปรแกรมเองให้ได้ก่อน มิฉะนั้นคงเหมือนกับการเปิดร้านกาแฟ โดยที่ชงกาแฟไม่เป็น อย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่เราจะเปิดคือ tech startup
สัญญาณเตือนภัยข้อที่สองคือเราเริ่มเห็นประโยคหรือการเคลมเรื่อง "ความรวย" กันมากขึ้น (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักกับสังคมที่ชื่นชอบและให้คุณค่ากับ "รวยเร็ว" หรือ "ให้เงินทำงาน") แต่คนที่ติดตามวงการสตาร์ตอัพต่างประเทศมาสักระยะ คงทราบกันดีว่าการรวยเร็วไม่มีอยู่จริง เหตุผลที่บริษัทสตาร์ตอัพในต่างประเทศทำเงินได้มหาศาล เป็นเพราะสามารถสร้าง "คุณค่า" ให้กับผู้ใช้หรือลูกค้าได้มากต่างหาก สภาพความรวยเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลังจากคุณค่าเหล่านี้ ไม่มีหนทางอื่นอีกยกเว้นการค้นหาและสร้างสรรค์คุณค่าที่ตลาดต้องการ แล้วทำงานหนักเพื่อรักษามันไว้ จากนั้นค่อยทำเงินจากมัน
รอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็มีผู้ใหญ่ในวงการไอทีไทยหลายท่าน สังเกตเห็นสัญญาณฟองสบู่ลักษณะนี้เกิดขึ้นในวงการ และออกมาเขียนบทความหรือโพสต์เตือนผ่านช่องทาง social ต่างๆ กันบ้างแล้ว (ใครค้นพบโพสต์ไหนน่าสนใจ ก็มาแชร์แบ่งปันกันได้ในคอมเมนต์) ผมคิดว่าคำเตือนเหล่านี้มีค่ามาก และเป็นสิ่งที่สตาร์ตอัพรุ่นปัจจุบันควรรับฟัง รวมถึงระลึกเอาไว้ตลอดเวลา