สำหรับเมืองจีน "IPHONE" อาจหมายถึงโทรศัพท์ Apple หรือกระเป๋าและซองหนังก็ได้

by ตะโร่งโต้ง
4 May 2016 - 13:11

สำหรับประเทศอื่นๆ แทบจะทั่วโลก เมื่ออ้างอิงถึงคำว่า "IPHONE" ย่อมพากันนึกถึงผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนจาก Apple เท่านั้น แต่ในประเทศจีน ชื่อนี้หมายถึงผลิตภัณฑ์เครื่องหนังยี่ห้อหนึ่ง และคนยืนยันเรื่องนี้ก็คือศาลสูงคดีพลเรือนแห่งนครปักกิ่ง

คดีเรื่องเครื่องหมายการค้า "iPhone" - "IPHONE" นี้เป็นคดีระหว่าง Apple กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องหนังของจีนที่มีชื่อว่า Xintong Tiandi ซึ่งรายหลังนั้นได้สร้างผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนังและซองใส่โทรศัพท์วางขายในประเทศจีน

ลำดับเหตุการณ์เรื่องเกี่ยวกับชื่อ "iPhone" - "IPHONE" ในประเทศจีนนี่ต้องย้อนเรื่องราวเท้าความกันดังนี้

  • ปี 2002: Apple ยื่นจดเครื่องหมายการค้าคำว่า "iPhone" ในประเทศจีน โดยระบุว่าเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ แต่คำขอไม่ได้รับการอนุมัติ
  • ปี 2007: Apple เปิดตัว iPhone อย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนรู้จักแทบทั้งโลกกับการถือกำเนิดโทรศัพท์สายพันธุ์ใหม่ที่สมกับคำว่า "smart" ในขณะที่ Xintong Tiandi ผู้ผลิตเครื่องหนังในจีน ยื่นจดเครื่องหมายการค้าเป็นแบรนด์กระเป๋าถือและซองใส่โทรศัพท์ทำจากหนังด้วยชื่อ "IPHONE"
  • ปี 2009: Apple สามารถขาย iPhone เครื่องแรกในประเทศจีน
  • ปี 2010: Xintong Tiandi วางขายผลิตภัณฑ์เครื่องหนังภายใต้แบรนด์ "IPHONE"
  • ปี 2012: Apple ร้องเรียนต่อหน่วยงานดูแลเครื่องหมายการค้าของจีนว่า Xintong Tiandi ละเมิดเครื่องหมายการด้วยการเลียนแบบชื่อ "iPhone" แต่ไม่เป็นผล จึงดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแต่ก็ไม่ชนะคดีอีก จึงฟ้องศาลสูง
  • ปี 2013: คำขอจดเครื่องหมายการค้า "iPhone" ของ Apple ได้รับการอนุมัติหลังการยื่นจดนาน 11 ปี
  • ปี 2016: Apple แพ้คดีในศาลสูง ด้วยเหตุผลที่ศาลยกมาว่า Apple มิอาจพิสูจน์ได้ว่าชื่อ "iPhone" ที่ Apple พยายามปกป้องนั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศจีนมาก่อนปี 2007 หรือโดยนัยคือก่อนที่ Xintong Tiandi จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบรนด์กระเป๋าหนังและซองโทรศัพท์

ปัญหาเรื่องชื่อเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับ Apple ตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นแล้วในปี 2012 เมื่อชื่อ "iPad" มีคดีเรื่องเครื่องหมายการค้าส่งผลยืดเยื้อทำให้ Apple ไม่อาจทำการตลาดสำหรับ iPad ในจีนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ท้ายที่สุด Apple ต้องตัดสินใจยอมจ่ายเงินถึง 60 ล้านดอลลาร์เพื่อจบคดีแล้วเดินหน้าค้าขายต่อไป

ที่มา - BBC, VentureBeat

Blognone Jobs Premium