สัมภาษณ์ผู้บริหาร Amazon Web Services ไม่กลัวคลาวด์คู่แข่ง แต่กลัวคนยังซื้อเซิร์ฟเวอร์กันต่อไป

by mk
5 May 2016 - 11:29

สัปดาห์ที่แล้ว Blognone ได้รับเชิญไปงาน AWS Summit Singapore ซึ่ง Amazon Web Services จัดเป็นงานประชุมประจำปีของภูมิภาค ข่าวสำคัญในงานคือ AWS ตั้งสำนักงานในไทย แต่ก็มีเนื้อหาอื่น รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้บริหารของ AWS สองคนคือ Nick Walton ผู้บริหารสูงสุดของ AWS ASEAN และ Werner Vogels CTO ของ Amazon สำนักงานใหญ่ และหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่สร้าง AWS ด้วย

Werner Vogels เริ่มต้นด้วยการย้อนอดีต AWS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2006 นับถึงปัจจุบันก็สิบปีพอดี (เขาเขียนบล็อกถึงเรื่องนี้ด้วย) เมื่อสิบปีที่แล้ว เรายังต้องพูดถึงว่าประโยชน์ของคลาวด์คืออะไร เช่น ช่วยลดเงินทุนตั้งต้น ช่วยให้ขยายการรองรับโหลดได้ง่าย ฯลฯ แต่ปัจจุบัน ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้กันหมดแล้ว

ตอนนี้ AWS มีลูกค้าจำนวนมหาศาล ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ สตาร์ตอัพ และหน่วยงานภาครัฐ ส่วนลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีมากมายเช่นกัน

AWS กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีรายได้ต่อไตรมาสเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีลูกค้าใช้งานจริงมากกว่า 1 ล้านองค์กร และตัวเลขจาก Gartner ก็ประเมินว่า AWS มีพลังประมวลผล (compute capacity) เยอะกว่าคู่แข่งในวงการคลาวด์อีก 14 รายรวมกันด้วยซ้ำ

ผมมีโอกาสถามว่าถ้าตัวเลขข้างต้นเป็นจริง แล้ว AWS มองใครเป็นคู่แข่งกันแน่ คำตอบที่ได้คือวงการนี้ไม่ใช่วงการที่ "ผู้ชนะกินรวบ" (winner take all) สุดท้ายผู้เล่นแต่ละรายจะมีส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง

เป้าหมายสำคัญของ AWS คือรับฟังเสียงของลูกค้าให้มาก ส่งผลให้ AWS มีฟีเจอร์ใหม่ในแต่ละปีเยอะมาก (ปี 2015 มีฟีเจอร์ใหม่ 722 ตัว) มีบริการคลาวด์แทบทุกประเภทเท่าที่จะทำได้ตามที่ลูกค้าร้องขอ ซึ่งในด้านกลับก็สร้างความสับสนให้ลูกค้า ไม่รู้จะใช้อะไรดี ซึ่งเป็นภารกิจของ AWS ในการแก้ปัญหานี้ ทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้น เรียบง่ายขึ้นให้ได้ วิธีการก็ต้องส่งคนของ AWS เข้าไปพูดคุย ให้คำแนะนำกับลูกค้าอยู่เรื่อยๆ

ฟีเจอร์ทั้งหมดของ AWS (เชื่อว่าพนักงาน AWS เองก็คงงง)

เมื่อถามถึงแผนการในอนาคตของ AWS ว่าจะทำอะไรบ้าง คำตอบที่ได้มี 4 ข้อดังนี้

1) ขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ

ตอนนี้ AWS มีศูนย์ข้อมูลกระจายตัวอยู่ทั่วโลก แต่ก็ยังไม่พอใจ ปี 2016 จะเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง (สีฟ้าในภาพ) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (โอไฮโอ), แคนาดา, สหราชอาณาจักร, อินเดีย และจีน (หนิงเซี่ย แห่งที่สองต่อจากปักกิ่ง) และนอกจากศูนย์ข้อมูลแล้ว AWS ยังมี Edge Pod หรือ CDN ช่วยเร่งความเร็วของการเข้าถึงข้อมูลด้วย

นอกจากนี้ AWS ยังพยายามเข้าไปจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ใช้งาน อย่างในไทยเองก็เปิดสำนักงานแล้ว และจัดงาน AWSOME Day ให้ความรู้กับนักพัฒนา

2) เพิ่มระดับความปลอดภัย

ผมถามคุณ Vortels ว่ามีอุปสรรคอะไรไหมที่ถึงขั้นทำให้เขานอนไม่หลับ คำตอบคือปัญหาเรื่อง Security หรือความปลอดภัยนั่นเอง ปัจจุบัน AWS มีฟีเจอร์ช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยหลายตัว แต่คนยังไม่ค่อยรู้จักกัน เช่น Amazon Inspector ช่วยประเมินหาความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และ Trusted Advisor คอนโซลอัตโนมัติช่วยหารูรั่วของระบบ

นอกจากนี้ AWS ยังพยายามผลักดันเรื่องการเข้ารหัสข้อมูล แนวทางคือลูกค้าของ AWS ต้องสามารถควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ข้อมูลถูกเก็บ (rest) หรือระหว่างขนย้าย (moving) ส่วนวิธีการก็พยายามให้การเข้ารหัสเป็นเรื่องง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครๆ ก็ใช้งานได้

3) Internet of Things

บริการใหม่ที่ AWS เน้นมากในปีนี้คือ AWS IoT ที่คอยรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งข้อมูลขึ้นไปเก็บบนคลาวด์

แนวทางของ AWS IoT คือมีระบบยืนยันตัวตนของฮาร์ดแวร์ก่อนส่งข้อมูลขึ้นคลาวด์ จากนั้นสร้าง "อุปกรณ์เสมือน" (Device Shadow) ขึ้นมาในระบบคลาวด์ เป็นภาพสะท้อนของอุปกรณ์จริง ทำให้ตัวคลาวด์สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์เสมือนได้ตลอดเวลา แม้ตัวอุปกรณ์จริงจะออฟไลน์ไป ก็สามารถเก็บข้อมูลในบัฟเฟอร์ไว้เพื่อสื่อสารอีกครั้งหลังการเชื่อมต่อกลับมาใช้งานได้

AWS IoT ออก Device SDK เพื่อให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สามารถผนวกฟีเจอร์ของ AWS IoT เข้าไปได้เลย ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ผลิตหลายรายรองรับฟีเจอร์เหล่านี้แล้ว

4) Serverless Infrastructure

บริการอีกตัวที่ AWS เน้นไม่แพ้กันคือ AWS Lambda บริการช่วยประมวลผลข้อมูลแบบ by request หรือ by trigger ตามคำร้องขอ ส่งผลให้เราไม่ต้องเช่าเซิร์ฟเวอร์ EC2 รันค้างไว้ให้เปลืองเงิน แต่ Lambda จะประมวลผลต่อเมื่อถูกเรียกใช้เท่านั้น (นับหน่วยเป็นเวลาเฉพาะช่วงที่ทำงาน ซอยเป็นหน่วยย่อยทุก 0.1 วินาที)

Lambda ออกแบบมาสำหรับบริการยุคใหม่ๆ อย่างการประมวลผลข้อมูลจาก IoT ที่มาเป็นครั้งย่อยๆ ไม่ต่อเนื่อง แนวคิดนี้เรียกว่า Serverless คือไม่จำเป็นต้องมีเซิร์ฟเวอร์ประมวลผลเลย สถาปัตยกรรมจะเหลือเพียงแค่ Lambda สำหรับประมวลผลงานเป็นครั้งๆ แล้วสั่งเก็บข้อมูลลง S3 หรือฐานข้อมูลโดยตรงแทน

หลังจากเปิดตัว Lambda ช่วงปลายปี 2014 ก็มีบริษัทใหญ่ๆ จำนวนมากใช้งานกับแอพพลิเคชันจริงเรียบร้อยแล้ว ปัญหาของ AWS กลับเป็นว่าคนต้องการใช้เยอะเกิน จนเปิดรับไม่ทันมากกว่า

คุณ Vortels อธิบายกับผมว่าสุดท้ายแล้ว EC2 จะยังใช้งานเฉพาะแอพพลิเคชันแบบเดิมๆ (legacy) ที่ยังต้องเปิดเซิร์ฟเวอร์รันไว้ตลอดเวลา เช่น เมลเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูลแบบ transactional

คุณ Nick Walton บอกว่าสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆ ของ AWS จะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ได้ ไม่ใช่เป็นการรันแบตช์วิเคราะห์ในตอนกลางคืนเหมือนอย่างเคย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเกมมือถือในปัจจุบัน นักพัฒนาสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้เล่นกำลังจะเลิกเล่นเพราะเล่นแพ้ในตอนไหน และสามารถนำเสนอไอเทมพิเศษเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เล่นเล่นเกมต่อได้อีกอย่างน้อย 5 นาทีได้เลย ซึ่งการทำแบบนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์เท่านั้น

คำถามสุดท้ายคือ AWS กลัวอะไร คำตอบที่ได้คือ "กลัวคนยังซื้อเซิร์ฟเวอร์อยู่" เพราะวิสัยทัศน์ของ AWS คือโลกที่ไม่ต้องมีศูนย์ข้อมูลเป็นของตัวเองเลย (จากภาพคือหน่วยงานที่ "All In" ทิ้งศูนย์ข้อมูลของตัวเอง หันมาใช้คลาวด์ 100%)

Blognone Jobs Premium