แนวคิดสิทธิบัตรของ IBM กับการเก็บความทรงจำของมนุษย์ลงในชิป

by ตะโร่งโต้ง
9 May 2016 - 15:08

เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลทุกวันนี้ก้าวหน้าไปมาก คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราตอนที่พวกท่านยังหนุ่มสาวคงยากจะคิดว่าการจะเก็บภาพนับพันนับหมื่นภาพในอุปกรณ์ที่เล็กกว่าอุ้งมือแทนอัลบั้มภาพกองพะเนินนั้นจะเป็นอย่างไร ตอนที่พวกเรายังเด็กก็อาจจะไม่เคยฉุกคิดว่าไม่ทันที่เราจะแก่เราจะได้เห็นเทคโนโลยีที่เก็บบทเพลงจากเทปคาสเซทนับร้อยม้วนลงในการ์ดความจำที่เล็กเพียงปลายนิ้วมือได้สำเร็จ แต่ที่ว่ามานั้นยังห่างไกลจากการเก็บข้อมูลของสมอง กระบวนการธรรมชาติที่มีกลวิธีในการจดจำบันทึกเรื่องราวแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ที่มองทุกอย่างด้วยพื้นฐานเลข "0" และ "1"

แต่คำว่าห่างไกลในแง่เทคโนโลยีนั้นดูจะถูกย่นระยะเข้าอีกหน่อยแล้ว ด้วยแนวคิดของ IBM ที่ตอนนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว มันคือการสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีกระบวนการบันทึกข้อมูล และจัดเก็บข้อมูล แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในหัวสมองของคนเรา

วงจรตามแนวคิดของ IBM นี้เป็นการจำลองวงจรประสาทของมนุษย์ ซึ่งมี "จุดประสานประสาท" อยู่ในนั้น จุดประสานประสาทคือโครงสร้างในระบบประสาทที่เซลล์ประสาทได้ส่งต่อสัญญาณประสาทให้แก่อีกเซลล์ ซึ่งอาจเป็นเซลล์ประสาทหรือเซลล์ประเภทอื่น โดยมีทั้งการส่งสัญญาณในรูปของสารเคมีและสัญญาณไฟฟ้า

IBM ออกแบบเซลล์ไฟฟ้า PCM (phase change material) ซึ่งเป็นเซลล์ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติความต้านทานไฟฟ้าแปรผันได้ เซลล์ PCM นี้จะรับการป้อน input เป็นสัญญาณไฟฟ้ามา 2 ทาง ทางแรกมาจากวงจรประสาท pre-synaptic ส่วนอีกทางมาจากวงจรประสาท post-synaptic (ซึ่งก็จำลองการทำงานมาจากจุดประสานประสาทจริงที่มีการส่งสัญญาณประสาทมาจากเซลล์ประสาท pre-synaptic และ post-synaptic) ยิ่ง input ทั้ง 2 ทางถูกป้อนเข้ามาอย่างต่อเนื่องเน้นย้ำมากเข้า ค่าความต้านทานไฟฟ้าของเซลล์ PCM ก็จะยิ่งลดต่ำลงทำให้สัญญาณไฟฟ้าไหลผ่านตัวเซลล์ได้ง่ายขึ้น เมื่อการป้อน input หยุดลง ตัวเซลล์ PCM จะยังคงรักษาค่าความต้านทานนั้นไว้

การที่เซลล์ PCM คงค่าความต้านทานไว้ได้ ก็คือการ "จดจำ" ข้อมูล ซึ่งการจะอ่านข้อมูลนั้นก็ทำได้โดยการส่ง "สัญญาณอ่าน" ผ่านเซลล์ PCM เหล่านั้น ค่ากระแสและแรงดันไฟฟ้าของ "สัญญาณอ่าน" ที่วัดได้ สะท้อนออกมาเป็นค่าของสิ่งที่เซลล์ PCM นั้นจดจำไว้ได้นั่นเอง

Dharmendra Modha หนึ่งในทีมงาน IBM อธิบายถึงประโยชน์เบื้องหน้าที่พึงได้จากสิทธิบัตรฉบับนี้ว่า

สถาปัตยกรรม (การจดจำบันทึกข้อมูลตามสิทธิบัตรนี้) สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้กว้างไกลหลายด้าน ตั้งแต่ระบบการมอง, การรับฟัง และการรับรู้สื่อผสมผสานต่างๆ ทั้งยังมีศักยภาพที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการผนวกความสามารถเฉกเช่นสมองคนเข้าสู่อุปกรณ์ทั้งหลาย จากที่เดิมทีการคำนวณประมวลผลนั้นล้วนถูกยึดโยงด้วยพลังและความเร็ว

แต่หากจินตนาการไกลออกไปอีก มันอาจนำประสบการณ์ใหม่สุดล้ำมาสู่สังคมมนุษย์เราได้ ทุกวันนี้เมื่อเราเปิดดูภาพตอนไปเที่ยวทะเล เราก็มองเห็นภาพนั้นได้อยู่ แต่คอมพิวเตอร์ก็บอกเราไม่ได้ว่ากลิ่นไอเกลือจากทะเลนั้นเป็นอย่างไรนอกจากเราจะปล่อยให้ความทรงจำในสมองของเราได้ออกมาทำหน้าที่ของมัน หรือยามเมื่อเราเปิดดูคลิปงานเลี้ยงวันเรียนจบก็เป็นสมองของเราต่างหากที่บอกเราได้ว่าอาหารวันนั้นอร่อยแค่ไหน ทว่าในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก อาจจะยังไม่ทันที่เราจะแก่เกินจะนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านข่าวด้วยซ้ำ เราอาจเห็นสิทธิบัตรของ IBM นี้ได้รับการพัฒนาจนนำมาสู่การจัดเก็บและถ่ายทอดความทรงจำในแบบที่มนุษย์จดจำได้จริงด้วยการส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทสู่สมองโดยตรง ไม่ใช่การฉายภาพให้มองด้วยตาหรือเปิดเสียงให้ฟังด้วยหูแล้วค่อยให้สมองแปลผล

ที่มา - PatentYogi, ข้อมูลสิทธิบัตรจาก FPO

Blognone Jobs Premium