สัปดาห์ก่อน Slack ได้ออกรายงานความโปร่งใสประจำปี เฉกเช่นกับผู้ให้บริการในลักษณะแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ ซึ่งน่าสนใจว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีคำขอร้องจากหน่วยงานรัฐเพื่อดูข้อมูลของผู้ใช้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น และไม่มีคำขอให้ลบหรือถอดเนื้อหาใดๆ ออกจากแพลตฟอร์มเลยแม้แต่ครั้งเดียว
นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐ มีคำขอจากภาคเอกชนในประเด็นเกี่ยวพันทางกฎหมายมายัง Slack แค่ 3 ครั้ง และทั้งหมดที่กล่าวมาทาง Slack ไม่ได้ให้เปิดเผยหรือให้ข้อมูลใดๆ แก่ผู้ร้องขอเลย
เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทใหญ่ที่มีฐานผู้ใช้มหาศาลก็ดูจะยิ่งทำให้ตัวเลขข้างต้นดูมหัศจรรย์ยิ่งขึ้น ขนาด Uber ที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ยังได้รับคำร้องจากรัฐบาลสหรัฐฯ เกือบ 500 ครั้งภายในเวลาครึ่งปี ส่วน Google นั้นได้รับคำร้องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2015 เป็นจำนวน 12,002 ครั้ง (ถ้ารวมทั่วโลกก็เกิน 35,000 ครั้ง) ยิ่ง Facebook ที่มีผู้ใช้เกินพันล้านคนนั้นได้รับคำร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐฯ เกือบ 20,000 ครั้งภายในห้วงเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น ทั้งที่ในแง่จำนวนผู้ใช้ Slack นั้นแม้ไม่ได้มากมายหลายร้อยหลายพันล้านคน แต่ตัวเลขผู้ใช้ 2.7 ล้านคน กับคำร้องขอดูข้อมูลจากภาครัฐแค่ครั้งเดียวนั้น คงต้องอนุมานว่า Slack เป็นแพลตฟอร์มที่ยังอยู่นอกสายตาหน่วยงานรัฐ
ทาง Slack เองให้ความเห็นเรื่องนี้ว่าอาจเป็นเพราะบริษัทนั้นเพิ่งตั้งมาได้ไม่นานเท่าไหร่ จึงอาจทำให้ไม่ค่อยถูกเพ่งเล็งนักว่า Slack จะถูกใช้เป็นช่องทางของบุคคลใดเพื่อกระทำการบางสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
พร้อมกันนี้ Slack ได้เน้นย้ำจุดยืนของตนเองที่จะช่วยดูแลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ด้วยข้อความแถลงในหน้าเว็บรายงานความปลอดภัยไว้ว่า
ในการปล่อยรายงานฉบับนี้, เราปรารถนาที่จะเน้นย้ำจุดยืนของเราที่คัดค้านการสร้าง "ประตูหลัง" ตามคำสั่งของภาครัฐ, โดยเฉพาะรัฐบาลใดๆ ที่เรียกร้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ที่อาจลดทอนความปลอดภัยของผู้ใช้ของเรา
ตัวแทนของ Slack ยังกล่าวเสริมเรื่องการระวังความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อีกว่า
ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับธุรกิจ, Slack จะปล่อยให้ผู้ดูแลระบบของทีมรับผิดชอบหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าของ (เนื้อหา) โดยจะไม่ก้าวล่วงไปตรวจสอบเนื้อหา
ที่มา - TechCrunch