Ms.Watson คือใคร?
Ms.Watson หรือชื่อเต็มคือ Jill Watson คือหนึ่งใน 9 ผู้ช่วยอาจารย์แห่ง Georgia Institute of Technology เธอคอยให้คำแนะนำนักศึกษากว่า 300 คนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคอร์สเรียนออนไลน์ เธอช่วยตอบคำถามให้นักศึกษาทางอีเมล คอยแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาต้องส่งงาน แต่ในบรรดานักศึกษาที่ Ms.Watson ได้ให้การช่วยเหลือ กลับไม่มีใครเคยเห็นหน้าเธอเลย
ทุกอย่างดูเป็นเรื่องราวปกติจนกระทั่งความจริงมาแตกโพละว่า Ms.Watson ที่หนุ่มสาวนับร้อยคนใน Georgia Institute of Technology ได้เคยรู้จักผ่านการโต้ตอบทางอีเมลนั้น แท้จริงแล้วเธอคือ Watson ปัญญาประดิษฐ์ของ IBM นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำเอาหลายคนเงิบกันไป
Shreyas Vidyarthi นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่าเธอนึกภาพว่า Ms.Watson เป็นหญิงสาวคอเคซอยด์อายุประมาณ 20 กว่าๆ และน่าจะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่เสียอีก
Jennifer Gavin นักศึกษาอีกคนพูดถึงประสบการณ์ที่ได้สนทนาโต้ตอบกับ Ms.Watson ว่า "มันดูเหมือนการสนทนาตามปกติของมนุษย์มาก"
Petr Bela เป็นนักศึกษาอีกรายที่คาดไม่ถึงว่าตัวตนที่แท้จริงของ Ms.Watson นั้นคืออะไร เธอบอกว่าเธอมารู้ความจริงนี้ก็ตอนที่เกือบจะโหวตให้ Ms.Watson เป็นผู้ช่วยอาจารย์ดีเด่นอยู่แล้ว
Eric Wilson นักศึกษาที่เคยขอความช่วยเหลือเรื่องการบ้านจาก Ms.Watson บอกว่าเขาไม่รู้สึกถึงลักษณะบุคลิกภาพเฉพาะตัวของ Ms.Watson ที่สะท้อนออกมาจากข้อความสนทนา แต่เขาคิดว่านั่นก็ดูเป็นเรื่องปกติสำหรับการเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่แล้วที่ต้องมีความเคร่งขรึมสำรวมในระดับหนึ่งและพุ่งความสนใจในการสนทนาไปที่การหาทางแก้ปัญหาให้แก่นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือ (ไม่ใช่คุยสัพเพเหระไปเรื่อย)
Barric Reed (คนนี้เด็ดสุด) นักศึกษาผู้เคยทำงานให้กับ IBM อยู่ 2 ปี งานที่เขาทำให้ IBM คือการสร้างฮาร์ดแวร์ส่วนหนึ่งที่นำไปใช้เพื่อรัน Watson เขาควรจะเฉลียวใจกับชื่อของ Ms.Watson แต่ก็มิได้นำพา
Ms.Watson นั้นสามารถใช้ภาษาได้ชนิดที่ชวนให้คนที่ได้อ่านอีเมลไม่รู้สึกระแคะระคายเลยว่าเธอไม่ใช่คนจริงๆ การพิมพ์คำสแลง อย่าง "Yep!" หรือใช้ข้อความไม่เป็นทางการแต่เป็นลักษณะของภาษาพูดอย่าง "we’d love to" เพื่อออกตัวว่าเป็นการกล่าวในนามของทีมงานผู้ช่วยอาจารย์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่น้อยคนจะคาดถึงว่าหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์จะสามารถร้อยเรียงข้อความและประโยคในระดับนี้ได้
แล้วเบื้องหลังเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? เหตุใดอยู่ดีๆ ก็มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ช่วยอาจารย์คอยให้บริการนักศึกษาหลายร้อยชีวิตได้? คำตอบนั้นอยู่ที่ Ashok Goel ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่ง Georgia Tech เขาเป็นผู้คัดเลือก Ms.Watson ให้มารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์คอยให้บริการตอบคำถามเหล่าผู้เรียน
Goel มองว่าภาระความรับผิดชอบของผู้ช่วยอาจารย์ที่จะต้องเจอกับพายุคำถามจากนักศึกษาไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะคำถามซ้ำซากเรื่องเดียวกันที่ต้องคอยตอบและอธิบายเรื่องเดิมซ้ำๆ ลักษณะนี้เหมาะแก่การให้หุ่นยนต์ทำงานแทนเป็นที่สุด เขาตั้งเป้าว่า Ms.Watson จะสามารถตอบคำถามทั่วไปราว 40% ของคำถามทั้งหมดได้ (ซึ่งเฉลี่ยแล้วเหล่านักศึกษาจะถามคำถามรวมกันประมาณ 10,000 คำถามต่อหนึ่งภาคเรียน) โดยปล่อยให้คำถามที่ลึกซึ้งและมีความละเอียดอ่อนเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยอาจารย์ที่เป็นคนจริงๆ มาทำหน้าที่ไขข้อข้องใจ ซึ่งนี่ถือเป็นการทดลองที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับเขาว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานโต้ตอบกับคนจริงๆ ได้ดีแค่ไหน
แน่นอนว่างานนี้เหล่าผู้ช่วยอาจารย์ตัวจริงอีก 8 ชีวิตนั้นต่างก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ในการช่วยอำพรางตัวตนที่แท้จริงของ Ms.Watson มาโดยตลอด ที่น่าตลกคือหนึ่งในคนที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์กลับเคยถูกสงสัยว่าเป็นบอทตอบคำถามเสียด้วย
ทีมงานที่ Georgia Tech ได้เริ่มออกแบบและประยุกต์ใช้ Watson กับระบบผู้ช่วยอาจารย์กันเองมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยที่ IBM นั้นเพียงแต่รับรู้และดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือแนะนำหรือพัฒนาระบบการวิเคราะห์ของ Ms.Watson แต่อย่างใด กระบวนการวิเคราะห์ของ Ms.Watson นั้นได้มาจากการถูกสอนด้วยคำถามกว่า 40,000 รายการบนกระดานสนทนาของ Georgia Tech จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ms.Watson ก็เริ่มตอบคำถามต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้ Ms.Watson จะยอมตอบคำถามก็ต่อเมื่อระดับความมั่นใจสูงเกิน 97% เท่านั้น
ป.ล. ที่จริงก็ใช่ว่าทุกคนจะประหลาดใจกับเรื่องนี้ Tyson Bailey นักศึกษารายหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้น่าตกใจอะไรมากมายบอกความเห็นของเขาว่า "เรากำลังเรียนเรื่องปัญญาประดิษฐ์กันอยู่ในชั้นเรียน" ฉะนั้น "มันก็ต้องมีปัญญาประดิษฐ์อยู่ที่นี่สิ"
ที่มา - The Wall Street Journal via CNET