วารสารทางการแพทย์ Journal of Trauma เดือนมิถุนายน ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับผลการใช้สารทดแทนเลือด ในระยะที่ 3 (Phase III) เป็นครั้งแรก
การทดลองนี้ นำโดย UCLA ทำการเปรียบเทียบการใช้สารทดแทนเลือด กับเลือดปกติที่ได้จากการบริจาค ในประเทศสหรัฐอเมริกา อัฟริกาใต้ และทวีปยุโรป เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมในการวิจัยนี้เป็นจำนวน 688 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูก (Orthopedic surgery) และจำเป็นต้องได้รับเลือด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับเลือดตามปกติ 358 คน และกลุ่มที่ได้รับสารทดแทนเลือดนี้ 350 คน
สารทดแทนเลือด ที่มีชื่อว่า HBOC-201 นี้ ผลิตโดยบริษัท Biopure Corporation โดยทำการสกัดจากวัว ข้อดีของ HBOC-201 นี้คือ สามารถเก็บไว้ได้ 3 ปีที่อุณหภูมิห้อง และไม่จำเป็นต้องทำการตรวจความเข้ากันได้กับเลือดของผู้ป่วย (cross-matched)
การวิจัยครั้งนี้พบว่า การใช้ HBOC-201 สามารถลดความจำเป็นในการใช้เลือดลงได้ 59% โดยที่สามารถให้ผลการรักษาที่ดีได้ ในกลุ่มคนไข้ที่มีอายุน้อยกว่า 80 ปี
ส่วนผลข้างเคียงนั้น พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับ HBOC-201 (5%) เทียบกับ ผู้ป่วยที่ได้รับเลือด (3%) ในกลุ่มที่ต้องการเลือดปริมาณมาก (ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) ส่วนความผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายที่พบก็คือ สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง ความดันเลือดสูงขึ้น และความผิดปกติของเอนไซม์ในเลือดบางชนิด
จากผลวิจัยนี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า HBOC-201 นี้มีประโยชน์ในกรณีที่ไม่สามารถให้เลือดกับผู้ป่วยได้ เนื่องจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และผู้นับถือบางศาสนาที่ไม่สามารถรับเลือดจากผู้อื่นได้
ความพยายามในการคิดค้นสารทดแทนเลือด เกิดขึ้นจากความขาดแคลนเลือดในการใช้รักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ที่มา Journal of Trauma, Physorg