ข่าวหนึ่งในงาน Google I/O 2016 ที่ผ่านมาคือ Project Ara เลื่อนเป็นปี 2017 และลดความยืดหยุ่นลงจากระบบที่ประกาศไว้ว่าปรับเปลี่ยนได้ทุกชิ้นส่วน มาเหลือแค่การเปลี่ยนแค่โมดูลเสริมเท่านั้น
ข่าวนี้สร้างความผิดหวังให้หลายคนที่สนใจ Project Ara ทางเว็บไซต์ CNET มีโอกาสสัมภาษณ์ Rafa Camargo หัวหน้าทีมวิศวกรของโครงการ ถึงสาเหตุในการปรับเปลี่ยนแผนการครั้งนี้
- Camargo อธิบายว่าแนวคิดการสร้าง "โครง" (endoskeleton) แบบเดิมไม่เวิร์ค เพราะทดสอบเครื่องต้นแบบรุ่นเดิมกับผู้ใช้ พบว่าส่วนใหญ่ไม่แคร์เรื่องการถอดเปลี่ยน "ฟังก์ชันหลัก" ของระบบ แต่กลับคาดหวังว่ามือถือ Ara จะมีฟังก์ชันหลักเหล่านี้ทำงานได้เหมือนเดิมทุกครั้งเสมอ
- ทางโครงการจึงต้องลดขอบเขตของงานลง จากมือถือถอดเปลี่ยนได้ทุกอย่าง มาเหลือการ max-and-match ผสมผสานโมดูลแทน
- เบื้องต้น Project Ara Developer Edition ที่จะวางขายปีนี้ มี 4 โมดูลที่กูเกิลผลิตเองทั้งหมด ได้แก่ ลำโพง กล้อง สตอเรจเพิ่มเติม และหน้าจอ E-Ink
- โมดูลลำโพงจะได้ Harman Audio มาร่วมพัฒนาฮาร์ดแวร์ด้วย การที่โมดูลลำโพงมีขนาดใหญ่ จะส่งผลให้เสียงดีขึ้น และน่าจะเป็นจุดขายสำคัญอย่างหนึ่งของ Ara
- เราสามารถติดตั้งโมดูลเดียวกันหลายชิ้นได้ ตัวอย่างเช่น ใส่โมดูลลำโพงหลายชิ้น ร่วมกับโมดูลแบตเตอรี่อีกหลายชิ้น กลายเป็นเครื่องเสียงพกพา
- การใส่โมดูลแบตเตอรี่เพิ่ม จะช่วยให้แบตอึดขึ้นอีก 45%
- ในระยะยาว กูเกิลหวังว่าจะเห็นโมดูลแปลกใหม่จากนักพัฒนาภายนอก ตัวอย่างที่เขาพูดถึง เช่น รีโมทรถยนต์, สเปรย์พริกไทย, ตัววัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ, ตัววัดน้ำตาลในเลือดสำหรับคนเป็นเบาหวาน เป็นต้น
- ตัวบัสเชื่อมต่อระหว่างโมดูล เรียกว่า Greybus ส่งข้อมูลได้ความเร็วสูงสุด 11.9 Gbps และกินไฟเพียงแค่หนึ่งในสามของ USB
- สถานะของ Project Ara ตอนนี้คือเลื่อนชั้นจากโครงการภายใต้หน่วย Google ATAP มาอยู่ภายใต้การดูแลของ ทีมฮาร์ดแวร์ที่คุมโดย Rick Osterloh อดีตซีโอโอของ Motorola
ในงาน Google I/O กูเกิลยังโชว์การสั่งงานด้วยเสียง "OK Google, eject camera" แล้วโมดูลกล้องดีดตัวออกมาจากเครื่องด้วย
ที่มา - CNET