ที่งานสัมมนา WinHEC ไมโครซอฟท์ประกาศรายละเอียดของแผนการอัพเดตใหญ่ Windows 10 ในระยะยาว (ตามนโยบาย Windows as a Service) ว่าจะ "ตั้งเป้า" ออกอัพเดตใหญ่ปีละ 2 ครั้ง (จากเดิมพูดไว้ว่า 2-3 ครั้ง)
ถ้ายึดตามประกาศนี้แปลว่าช่วงกลางปี เราน่าจะได้เห็นอัพเดตแรก Anniversary Update (ซึ่งน่าจะเป็นรุ่น 1607) และตามด้วยอัพเดตที่สอง (โค้ดเนม Redstone 2) ช่วงปลายปี
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังประกาศแผนของ Windows 10 รุ่นสำหรับองค์กร หรือที่เรียกว่า Current Branch for Business หรือ CBB โดยจะปล่อยตามหลัง Current Branch รุ่นปกติสำหรับผู้ใช้ทั่วไป 4 เดือน เพื่อรอแก้บั๊กสำคัญให้ครบก่อน จากนั้นองค์กรจะมีเวลาใช้ Branch แต่ละตัวนาน 1 ปี ก่อนไมโครซอฟท์หยุดอัพเดตแพตช์ให้ Branch นั้น (จะมีช่วงเวลาแถม grace period เผื่ออัพเกรดไม่ทันอีก 2 เดือน)
ถ้าหากไมโครซอฟท์ออก Windows 10 1607 ในเดือนกรกฎาคมนี้ แปลว่ารุ่น CBB จะออกในเดือนพฤศจิกายน 2016 และใช้ได้นานถึงเดือนมกราคม 2018
ที่มา - Computerworld
ปัจจุบัน Windows 10 มีทั้งหมด 4 Branch คือ Insider, Current, Current for Business, LTS
รอบการพัฒนาแต่ละ Branch จะเริ่มจาก Insider ประมาณ 6 เดือน, Current 4 เดือน, Current for Business 12 เดือน (ขนานกันไปคล้ายกับระบบของ Chrome/Debian/Ubuntu)
Windows as a Service คือการอัพเกรดระบบปฏิบัติการบ่อยๆ ทุกปี แทนที่จะเป็นการออกรุ่นใหญ่ทุก 3-5 ปีแบบของเดิม