รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาแอพ Bagtector แอพมือถือที่อาศัยพลังของปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ภาพถ่ายกระเป๋าหรูยี่ห้อ Hermes ว่ากระเป๋าใบดังกล่าวเป็นของแท้หรือไม่
Bagtector (bag + detector) ใช้พลังของโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกที่ผ่านการสอนให้รู้จักภาพถ่ายโลโก้ Hermes ที่ถ่ายมาจากกระเป๋าของแท้กว่า 200 ใบ เทียบกับภาพถ่ายโลโก้ Hermes จากกระเป๋าปลอมสารพัดเกรดอีกกว่า 100 ใบ โดยใช้เวลานานกว่า 2 เดือน จนทำให้มันสามารถแยกแยะได้ว่าภาพโลโก้ Hermes แต่ละภาพนั้นเป็นภาพจากกระเป๋าของแท้หรือไม่ ซึ่งโลโก้บนกระเป๋าของแท้จะมีรายละเอียดเรื่องริ้วรอยที่เกิดจากแรงอัดในการประทับตราในกระบวนการผลิต ทั้งยังร่องรอยพื้นผิวของวัสดุกระเป๋าซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ Bagtector สามารถนำมาใช้เพื่อการแยกแยะตรวจสอบหาของแท้-ของปลอมได้
ตัวแอพ Bagtector นั้นใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS มันจะส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งในอังกฤษให้ทำหน้าที่ตรวจสอบภาพถ่ายโลโก้ของกระเป๋า และจะให้ผลการตรวจสอบเพื่อระบุว่ากระเป๋าเป็นของแท้หรือไม่ภายในเวลาราว 30 วินาที
รศ.ดร.จาตุรงค์ เล่าว่าเดิมทีได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจสอบพระเครื่อง โดยมีแนวคิดเรื่องการตรวจสอบจากรอยการกดพิมพ์เพื่อสร้างพระ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้ต่อยอดมาเป็น Bagtector ที่ตรวจสอบกระเป๋าจากร่องรอยการกดพิมพ์โลโก้เช่นกัน และในอนาคตอันใกล้จะมีการเพิ่มความสามารถ Bagtector ให้ตรวจสอบกระเป๋าหรูยี่ห้ออื่นได้ด้วย อาทิ Prada, Louis Vuitton
ผลงาน Bagtector ของ รศ.ดร.จาตุรงค์ ได้เข้าร่วมการประกวดในงาน Inventions Geneva ครั้งที่ 44 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากงานดังกล่าว ซึ่งตัว Bagtector เองได้รับความสนใจจากทางการสวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้หน่วยงานศุลกากรไว้ใช้คอยตรวจสอบการลักลอบนำสินค้าปลอมทำเลียนแบบเข้าประเทศ (ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์) นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาและเครื่องประดับหลายราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Chopard ก็ให้ความสนใจงานพัฒนา Bagtector และได้ติดต่อ รศ.ดร.จาตุรงค์ เพื่อขอให้พัฒนาแอพสำหรับตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนด้วยเช่นกัน
และเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าหลายรายที่สนใจอยากให้มีการพัฒนาแอพเพื่อตรวจสอบสินค้าของตน ทำให้ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตัดสินใจเก็บแอพ Bagtector ไว้ ยังไม่ปล่อยให้มีการดาวน์โหลดไปใช้งาน เนื่องจากต้องการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ตามความต้องการของหลายฝ่ายก่อน
แน่นอนว่าหลายคนให้ความสนใจข่าวนี้ในฐานะผลงานของคนไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่โปรดพึงตระหนักว่านี่เป็นอีกหมุดหมายสำคัญในแง่การพัฒนาใช้งานปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินค้า ยิ่งเมื่อพูดถึงสินค้าหรูจำพวกกระเป๋าใบละหลายแสนหรือหลายล้านบาท นี่ย่อมหมายถึงโอกาสในทางพาณิชย์ที่สำคัญของงานพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
ที่มา - Positioning