เกาหลีใต้ทดสอบระบบการแจ้งเตือนบนรถไฟฟ้า โดยติดตั้งสัญญาณไฟไว้บริเวณที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ เมื่อมีคนท้องเดินเข้ามาในรถไฟฟ้า สัญญาณไฟดังกล่าวจะติดสว่างขึ้นเพื่อแจ้งเตือนให้คนที่นั่งอยู่ตรงนั้นลุกขึ้นเพื่อสละที่นั่ง
โครงการนี้มีชื่อว่า "Pink Light" เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยทางการของเมืองปูซาน โดยเริ่มใช้งานกับรถไฟฟ้าสาย Busan-Gimhae ภายในรถมีที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ซึ่งมีการทำเครื่องหมายโดดเด่นด้วยสีชมพู ส่วนบริเวณราวจับข้างที่นั่งนั้นมีการติดตั้งหลอดไฟสัญญาณสีชมพูเอาไว้ให้คนที่นั่งอยู่ตรงที่นั่งดังกล่าวมองเห็นได้ง่าย โดยไฟสัญญาณนั้นจะติดสว่างขึ้นเมื่อมีคนท้องเดินเข้ามาใกล้ในระยะ 2 เมตร และเมื่อว่าที่คุณแม่ได้นั่งลงตรงที่นั่งของเธอแล้ว ไฟสีชมพูนี้ก็จะดับลง
วิธีการที่ระบบสามารถรับรู้ได้ว่ามีคนท้องเดินเข้ามาใกล้นั้น อาศัยการตรวจป้ายแท็กกระเป๋าที่ออกแบบมาเฉพาะ ว่าที่คุณแม่ผู้กำลังอุ้มท้องกว่า 500 คนที่เข้าร่วมโครงการทดสอบนำร่องนี้ต่างก็ได้รับป้ายแท็กกระเป๋าที่มีชิปบลูทูธเอาไว้สำหรับพกติดตัว เมื่อใดก็ตามที่พวกเธอโดยสารรถไฟฟ้าและเดินไปยังที่นั่งซึ่งจัดไว้ให้เฉพาะ ไฟสัญญาณสีชมพูของรถไฟฟ้าก็จะติดสว่างขึ้นได้จากการเชื่อมต่อชิปบลูทูธในป้ายแท็กที่เข้ามาอยู่ในระยะที่เชื่อมต่อได้นั่นเอง
ในปี 2014 มีการสำรวจคนท้องในเกาหลีใต้ว่าได้รับการสละที่นั่งในระหว่างเดินทางหรือไม่ ซึ่งมีคนตอบ "ไม่" สูงถึง 64% ด้วยเหตุนี้จึงมีการรณรงค์เพื่อให้คนยอมสละที่นั่งบนรถโดยสารและรถไฟฟ้าแก่คนท้อง ซึ่งก่อนหน้าทางการในเกาหลีใต้ใช้วิธีให้ว่าที่คุณแม่ผู้อุ้มท้องสามารถลงทะเบียนเพื่อขอป้ายประจำตัวไว้พกสำหรับเดินทางได้ เบื้องต้นนั้นก็คาดหวังกันว่าเมื่อผู้โดยสารร่วมทางเห็นป้ายประจำตัวดังกล่าวก็จะยอมลุกสละที่นั่งให้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้วแต่ละคนบนรถหรือรถไฟฟ้าอาจไม่ได้สนใจมองคนข้างเคียงนัก ด้วยเหตุนี้เมื่อคนท้องต้องโดยสารระบบขนส่งสาธารณะและพบว่ามีคนนั่งจับจองที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์อยู่ก่อนแล้ว จึงมักจะต้องใช้วิธีเรียกคนที่นั่งอยู่แล้วแสดง "ป้ายคนท้อง" เพื่อขอให้ผู้โดยสารรายดังกล่าวลุกจากที่นั่ง ซึ่งวิธีการนี้ก็ทำให้คนท้องบางรายรู้สึกกระดากอาย
การทำระบบ Pink Light นี้ขึ้นมา ได้ช่วยลดปัญหาด้านความรู้สึกดังที่ ทำให้ผู้ที่สมควรได้ใช้ที่นั่งสำหรับคนท้องจริงๆ ไม่ต้องลำบากคอยทวงสิทธิ์ให้ตัวเองทุกครั้งที่เดินทาง นอกจากนี้ผู้ร่วมเดินทางก็จะได้แน่ใจว่าตนเองสมควรลุกสละที่นั่งให้แก่คนท้องจริงๆ (เพราะบางทีคนที่กำลังตั้งท้องก็อาจไม่ได้มีท้องโต และคนที่ท้องโตก็ใช่ว่าจะตั้งท้องเสมอไป)
โครงการ Pink Light จะถูกนำไปใช้งานกับระบบขนส่งโดยสารสาธารณะอื่นๆ ต่อไปเป็นลำดับ
ที่มา - BBC, Korea Herald