เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายสำหรับเกมใหม่จากค่ายที่หากินกับซีรีส์เกมเดิมๆ มากว่า 20 ปีอย่าง Blizzard โดยเบื้องหลังความสำเร็จนี้ เกิดมาจากแนวคิดที่ต้องการสร้างเกมเชิงบวก (optimistic/positive) ของผู้กำกับอย่าง Jeff Kaplan และทีมพัฒนาที่ย้ายมาจาก Project Titan ที่ถูกยกเลิกไปในปี 2014
Kaplan เล่าว่าแนวคิดนี้ได้มาจากการที่เขาได้นั่งเล่นเกมกับภรรยาและลูกๆ ในบ้านด้วยกัน เขารู้สึกว่า เนื้อหาเกมที่รุนแรง มีภาษาหยาบคาย ตัวละครใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นดูจะไม่ค่อยเหมาะกับสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ และเมื่อนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก็ได้ข้อสรุปว่าเกมใหม่ของบริษัท จะต้องเป็นเกมที่เหมาะสมกับเด็กๆ และวัยรุ่น
ด้วยแนวคิดข้างต้นนี้ทำให้ทีมพัฒนามองว่าเกมยิงที่เน้นจำนวนคิล (kill) จะมีสภาพแวดล้อมการแข่งขันค่อนข้างสูงและชิงดีชิงเด่น ซึ่งจะเป็นการดึงเอา negativity ออกมามากกว่า ดังนั้นเราจึงเห็นว่า Overwatch ไม่ใช่เกมที่จะเน้นจำนวนคิลมากกว่าแล้วชนะเสมอไป แต่อาศัยความร่วมมือกับเพื่อนร่วมทีมและการทำภารกิจเป็นสำคัญ
Jeff Kaplan ผู้กำกับเกม Overwatch
นอกเหนือไปจากนั้น แนวคิดเชิงบวกยังถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทั้งเทรลเลอร์ภาพยนตร์ (Cinematic Trailer) ในรูปแบบของการมี "ความหวัง" โดยโครงการ Overwatch ในเนื้อเรื่องเปรียบเสมือนทีมซูเปอร์ฮีโร่ ที่ถูกตั้งคำถามและสูญเสียความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ ก่อนที่จะถูกยุบลงไป โดยความหวัง (ของการปกป้องโลกโดย Overwatch) นั้นก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครคนพี่ ที่ถอดฮู้ดออกในตอนจบของเทรลเลอร์ประหนึ่งกลับมามีความหวังอีกครั้ง หลังจากสวมฮู้ดและดูแคลน Overwatch มาตลอดว่าถูกยุบและเป็นเพียงทหารรับจ้างไปแล้วเท่านั้น
ขณะเดียวกันความหวังนี้ยังถูกส่งต่อมาให้โลกแห่งความเป็นจริงด้วย โดยเฉพาะกับคนพิการ จากโหมดสำหรับคนตาบอดสี หรือแม้แต่การปรับแต่งการควบคุมของเกมที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จนทำให้ผู้ที่พิการทางสมอง (Cerebral Palsy) ยังสามารถเล่นเกมนี้ได้ด้วยเช่นกัน
Kaplan กล่าวปิดท้ายด้วยว่า การเล่น Overwatch คือการรู้จักทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ซึ่งไม่ว่าคุณจะชนะหรือแพ้ คุณจะแชร์ประสบการณ์นี้ร่วมกัน
ที่มา - Wired