Solar Voyager โครงการล่าฝันของ 2 หนุ่มอเมริกันกับการสร้างหุ่นยนต์เดินทางข้ามมหาสมุทร

by ตะโร่งโต้ง
9 June 2016 - 06:53

คนเราแต่ละคนใช้เวลาว่างเลือกทำอะไรที่ต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน Isaac Penny และ Christopher Sam Soon ก็เช่นกัน พวกเขาเลือกใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบหลงใหล มันคือการสร้างหุ่นยนต์เพื่อเดินทางข้ามทะเล และจากการทำงานร่วมกันนานกว่า 4 ปี ตอนนี้ Solar Voyager หุ่นยนต์แบบเรือของพวกเขาก็ได้เริ่มการเดินทางสู่มหาสมุทรแอตแลนติกแล้ว

2 หนุ่มเริ่มจากการดัดแปลงเรือคายัคพลาสติกมาติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์ จากนั้นก็มีการปรับปรุงพัฒนาการใช้วัสดุอุปกรณ์และปรับการออกแบบหลายส่วน ตัวโครงเรือก็เปลี่ยนมาใช้เรือที่ตัวลำทำจากอะลูมิเนียมที่ออกแบบเองซึ่งมีความทนทานมากขึ้น ระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และระบบใบพัดขับเคลื่อนก็เป็นงานที่ Penny และ Sam Soon ช่วยกันออกแบบสร้างขึ้นมาเองทดสอบกันเองจนกลายเป็น Solar Voyager หุ่นยนต์แบบเรือที่พร้อมจะเดินทางไกลโดยไม่ต้องอาศัยคนคอยควบคุม

ระบบต้นกำลังของ Solar Voyager นั้นใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดกำลัง 240 วัตต์มาจ่ายไฟแก่มอเตอร์ไปขับชุดใบพัด แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ราว 7 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อวันในฤดูร้อน ส่วนในช่วงฤดูหนาวก็คาดว่าอย่างน้อยจะได้พลังงานไฟฟ้า 3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในแต่ละวัน (1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เท่ากับหน่วยพลังงานที่ใช้คำนวณค่าไฟตามบ้าน 1 ยูนิต)

ชิ้นส่วนระบบควบคุมของ Solar Voyager ถูกออกแบบในลักษณะเป็นมอดูลเพื่อว่าในอนาคตจะสามารถขยายงานพัฒนาให้สะดวกต่อการถอดปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน และสามารถต่อยอดนำไปปรับใช้งานกับเรือลำอื่นได้ง่าย

Solar Voyager ได้รับการออกแบบที่เน้นความทนทานเป็นอย่างมาก ตัวใบพัดถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการหยุดทำงาน (foul-resistant) ส่วนตัวลำของเรือก็ได้รับการเคลือบผิวเพื่อป้องกันเพรียงมาเกาะ ภายในตัวลำเรือมีการเชื่อมแผ่นอะลูมิเนียมเพื่อสร้างโพรงอากาศที่จะช่วยพยุงเรือเพื่อรับประกันว่าเรือจะไม่จมแม้ว่าเรือจะมีการพลิกคว่ำหรือจะมีน้ำทะลักเข้าสู่ส่วนอื่นของลำเรือ นอกจากนี้ Solar Voyager ยังได้รับการออกแบบทาสีให้มองเห็นได้ง่ายจากระยะไกล เผื่อในกรณีที่มีเรือผ่านมาใกล้จะได้สังเกตเห็นและหลีกเลี่ยงการชนได้

หลังการพัฒนาจนพร้อม Penny และ Sam Soon ได้นำ Solar Voyager ไปทดสอบการทำงานในทะเลจริงเมื่อปีก่อนบริเวณนอกชายฝั่ง North Carolina โดยได้รับความช่วยเหลือจากเรือประมงในการทำการทดสอบจนมั่นใจสำหรับการเดินทางจริงในปีนี้

ระบบควบคุมทิศทางของ Solar Voyager จะตรวจสอบตำแหน่งตัวเองด้วยการเชื่อมต่อกับกลุ่มดาวเทียม Iridium ซึ่งมีดาวเทียมมากถึง 66 ตัว ทำงานร่วมกันในการเชื่อมต่อระบบโทรคมนาคมต่างๆ และตอนนี้มันได้เริ่มออกเดินทางท่องทะเลจากชายฝั่งทางตะวันออกของ Boston แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

เส้นทางการท่องมหาสมุทรของมันถูกกำหนดไว้โดยเลี่ยงเส้นทางเดินเรือปกติ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี Penny และ Sam Soon ก็หวังว่า Solar Voyager จะประสบความสำเร็จเดินทางไปถึงชายฝั่งประเทศโปรตุเกสในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ โดยเมื่อมันเดินทางไปถึงที่นั่นแล้วก็จะแล่นวนรอไปจนกว่า 2 หนุ่มจะตามไปเก็บมัน

Solar Voyager ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกในการพัฒนาหุ่นยนต์หรือยานพาหนะ ก่อนหน้านี้ Wave Gliders หุ่นยนต์ของ Liquid Robotics ก็เคยเดินทางข้ามมหาสมุทรสำเร็จมาแล้ว โดย Wave Glider อาศัยพลังงานจากคลื่นผิวน้ำมาใช้ในการขับเคลื่อน โดยทาง Liquid Robotics ได้จัดเตรียมจุดแวะให้ Wave Glider ระหว่างทางเพื่อทำการตรวจสอบซ่อมบำรุง และมีการปล่อยหุ่น Wave Glide หลายตัว ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบแล้วการพัฒนา Solar Voyager จึงถือว่าท้าทายกว่ามากในแง่การออกแบบเพราะทรัพยากรที่มีน้อยกว่า การออกแบบจึงต้องคิดเผื่อสภาพการเดินทางยาวนานตลอด 4 เดือนโดยปราศจากการตรวจสอบซ่อมบำรุงระหว่างทาง

ถึงวันนี้คงไม่มีใครบอกได้ว่าการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของ Solar Voyager จะสำเร็จตามแผนจริงหรือไม่ แต่นี่ก็นับเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดีกับการสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา Penny และ Sam Soon บอกว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์หรือการเดินเรือแต่อย่างใด พวกเขาไม่มีเทคโนโลยีเฉพาะตัวแบบที่ Liquid Robotics สามารถพัฒนา Wave Glider ขึ้นมาได้ แต่พวกเขาก็สามารถสร้าง Solar Voyager ขึ้นมาได้ด้วยแนวทางการใช้พลังงานที่แตกต่าง

ในระหว่างนี้ก็สามารถติดตามตำแหน่งของ Solar Voyager ซึ่งมีการอัพเดตทุก 15 นาทีได้จากหน้าเว็บไซต์นี้

ที่มา - TechCrunch

Blognone Jobs Premium